ลุ้น “จีดีพีจีนไตรมาส 1-ตลาดทองคำ” พยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็ว

ลุ้นจีดีพีจีน
REUTERS/Aly Song

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 33.30-33.85 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “จีดีพีจีนไตรมาส 1/65-ราคาทองคำทดสอบ 1,990-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์” ช่วยพยุงเงินบาท พร้อมเกาะติดสถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์

วันที่ 17 เมษายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 18-22 เมษายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.30-33.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่นักลงทุนติดตามจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน หากทวีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจเห็นค่าเงินอ่อนค่าทะลุแนว 33.80 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วมาก จะเป็นตลาดทองคำที่ราคาขึ้นไปทดสอบ 1,990-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเห็นแรงเทขายทำกำไร (Take Profit) ส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแบบ Side Way ได้ เนื่องจากปัจจัยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตลาดได้รับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ การประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1/65 ของประเทศจีน คาดว่าตัวเลขน่าจะออกมาแย่พอสมควร ส่งผลให้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นมากขึ้น

และตัวเลขดัชนี PMI เดือนเมษายนของยุโรปแลสหรัฐฯ โดยตัวเลขยุโรปจะสำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นเดือนที่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนและลดลงจากเดือนมีนาคมมากขนาดไหน ขณะที่สหรัฐฯ ตัวเลขจะสะท้อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเร็วและเร่งขึ้นขนาดไหน ซึ่งต้องติดตามแรงเทขายของตลาดด้วย

“ติดตามโฟลว์ตลาดทองคำและตลาดหุ้น ที่ได้อานิสงส์จากคาดหวังว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าเยอะ เนื่องจากมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดหุ้นในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) รวมถึงกลุ่มที่ได้ Benefit จากตลาดทองคำมาช่วยพยุงค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าเยอะ นอกจากจะมีอีเว้นท์ใหญ่”

สำหรับฟันด์โฟลว์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนซื้อสุทธิตลาดหุ้นราว 340 ล้านบาท โดยสัญญาณในสัปดาห์หน้าตลาดจะเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งหากต้นสัปดาห์ Set Index ไปแตะระดับ 1,650 จุด จะเริ่มเห็นแรงเทขายทำกำไร โดยตลาดยังคงรอดูเชิง ส่วนหนึ่งเข้าใกล้ช่วงที่เฟดจะมีการประชุมในเดือนพฤษภาคม ทำให้เห็นแรงซื้อสลับขายได้

ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนขายสุทธิราว 3,500 ล้านบาท ซึ่งมีแรงเทขายต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนบอนด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ปรับขึ้นค่อนข้างแรง ทำให้มีแรงเทขายบอนด์ตัวยาวออกมา โดยประเมินว่าจะเห็นแรงซื้อสุทธิรวมหุ้นและบอนด์ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.40-33.85 บาทต่อดอลลาร์ โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ สูงเกินคาด แต่เงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าคาด ส่งผลใหัผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ) อาจจะพักตัว ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงค่าเงินบาทฟื้นตัวขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดว่าจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวในปีนี้

นอกจากนี้ ตลาดยังติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศหลังเทศกาลสงกรานต์ ด้วยเช่นกัน

“เดือนนี้เงินบาทอ่อนค่า เกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินเกิดใหม่ในเอเชีย ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งในยูเครนและล็อกดาวน์ในจีนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดของห่วงโซ่การผลิตย่ำแย่ลง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหนุนค่าเงินดอลลาร์เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณชัดเจนต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยควบคู่ไปกับมาตรการลดขนาดงบดุล”