กองหุ้นเวียดนามฮอต สงคราม ‘รัสเซีย’ ไม่เอฟเฟ็กต์

หุ้น กระดาน

จากภาวะเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้กองทุนรวมหุ้นเวียดนามได้รับความนิยมไปด้วย มีนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านเม็ดเงินที่ไหลเข้ากองทุนค่อนข้างสูงในไตรมาสแรกปีนี้ บวกกับผลตอบแทนที่สะสมอยู่ในระดับสูง

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1/2565 กองทุนรวมกลุ่ม Country Focus Equity มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 3 ของกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม term fund) มูลค่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนามเกือบทั้งหมด

ขณะเดียวกันในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีกองทุนหุ้นเวียดนามเปิดใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีกองทุนเวียดนามมีจำนวนทั้งสิ้น 22 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วจนถึงขณะนี้มีกองทุนเปิดใหม่ในปีนี้แล้ว 8 กองทุน (รวมทุกชนิดหน่วยลงทุน)

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -0.28% (ณ 8 เม.ย. 2565) แต่ในรอบ 1 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมยังสูงอยู่ที่ 23.0% โดยกองทุน ASP-VIETRMF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส

ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงสุดที่ 27.7% ตามด้วยกองทุน Asset Plus Vietnam Growth จาก บลจ.แอสเซท พลัสเช่นกัน ให้ผลตอบแทนที่ 27.4% ตามมาด้วยกองทุน Principal Vietnam Equity A จาก บลจ.พรินซิเพิล ให้ผลตอบแทนที่ 23.2% (ดูตาราง)

ADVERTISMENT

“มอร์นิ่งสตาร์ฯจะเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนาม หรือ Vietnam Equity ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยเวียดนามยังเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในระยะยาวจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์สิ่งทอ เป็นต้น

รวมทั้งโครงสร้างประชากรที่สนับสนุนศักยภาพการเติบโต การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาดำเนินการต่อจากช่วงปลายปีที่แล้ว โดยระยะสั้นอาจมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หรืออาจส่งผลต่อภาคการบริโภคในประเทศ รวมถึงความต้องการสินค้าส่งออกได้” นางสาวชญานีกล่าว

ADVERTISMENT

ขณะที่ “คมสัน ผลานุสนธิ” กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ.แอสเซท พลัสกล่าวว่า จากพื้นฐานเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตค่อนข้างเเข็งแกร่ง

โดยตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน จะเห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามไม่ได้ปรับตัวลงมาก เนื่องจากราคาพลังงานไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในเวียดนามมากนัก รวมทั้งการส่งออกและตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ยังคงเติบโตอยู่ที่ระดับ 6% ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ส่วนผลตอบแทนกองทุนเวียดนามปีนี้ที่ติดลบเกือบ 1% ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ติดลบลงมากว่า 8-10% ต่อวัน ซึ่งเวียดนามมีปัจจัยลบจากภายในประเทศเกี่ยวกับทางการจับคดีปั่นหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่ง

รวมถึงกรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดที่มีการทุจริต ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศเชิงลบต่อตลาดหุ้นและมีการขายออก (sell-off) ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานลงมา

“เป้าหมายดัชนีหุ้นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 1,300 จุด มองว่าจะเป็นจุดที่น่าเข้าซื้อ เนื่องจาก P/E หุ้นที่ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับหลายตลาดทั่วโลก หรือในแถบอาเซียน

ทั้งนี้ คาดว่าจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ เมื่อตลาดหุ้นเริ่มรีบาวนด์ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เวียดนามจะเป็นอีกตลาดหุ้นที่กลับมาทำผลงานได้ดีที่สุดตลาดหนึ่ง โดยมองว่าเป้าหมายผลตอบแทนจากจุดปัจจุบันอาจจะได้เห็นถึง 15-20% จึงเป็นตลาดที่เราชอบและแนะนำนักลงทุนในปีนี้” นายคมสันกล่าว

“อานุภาพ โฉมศรี” ผู้จัดการกองทุนและผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี และอนาคตข้างหน้า ก็เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตอยู่อีกมาก

ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากทางรัฐบาลที่มีนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต เรื่องของจำนวนประชากรที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และเป็นวัยที่มีความต้องการบริโภคค่อนข้างสูง

ขณะที่ในแง่ของการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม (VNINDEX) ถือว่ามีอัตราเติบโตค่อนข้างสูงเฉลี่ย 15-20% รวมทั้ง P/E ratio หุ้นเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 13 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 14 เท่า หากราคาหุ้นยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

หมายความว่ามีโอกาสที่จะเทรดที่ค่าเฉลี่ย 14 เท่าได้ และด้วยภาพเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างชัดเจน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเทรดมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 17-18 เท่า ทั้งนี้ ประมาณการว่า ณ สิ้นปี 2565 ดัชนีหุ้นเวียดนามน่าจะไปถึง 1,800 จุดได้

ภายใต้ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ เชื่อว่ายังมีอัพไซซ์ในการเติบโตอยู่เนื่องจากราคาหุ้นที่ยังไม่แพงมาก

“ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดเกิดใหม่ ทำให้สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยมีมากถึง 90% ซึ่งการที่มีรายย่อยจำนวนมาก หมายความว่าการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรค่อนข้างเยอะ

เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นจึงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนมากกว่าปกติ ทำให้นักลงทุนที่มีการลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน จะไม่เหมาะกับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม แต่จะเหมาะกับนักลงทุนระยะยาวมากกว่า ซึ่งจะสร้างผลตอบเเทนได้ค่อนข้างดี” นายอานุภาพกล่าว

เรียกได้ว่า เนื้อหอมจริง ๆ สำหรับกิจเวียดนามในตอนนี้ ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนหุ้นที่มีคนแห่เข้าไปลงทุนกันมากเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดี