สรรพสามิต จับมือ โตโยต้า ร่วมมาตรการอีวี ลดราคาคันละ 3 แสนบาท

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สรรพสามิต เผย โตโยต้า ส่งรถรุ่น bZ4X เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมอีวี ลดราคากว่าคันละ 3 แสนบาท ชี้ยอดจองรถไฟฟ้าคึกคัก “GWM-MG” พุ่ง 5,000 คัน คาดทั้งปีมีค่ายรถเข้าร่วมกว่า 5 แห่ง

วันที่ 29 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามข้อตกลง ระหว่างกรมสรรพสามิตกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ถือเป็นค่ายรถญี่ปุ่นรายใหญ่ในประเทศไทย ได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีในการขับเคลื่อนอีวีตามนโยบายรัฐ ซึ่งโตโยต้าจะเปิดตัวรถอีวีที่จะนำเข้ามาจำหน่ายภายในปีนี้ รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน รวมแล้วลดราคาลงมากว่าคันละ 300,000 บาท

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด/บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการ รวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า GWM รุ่น ORA GOOD CAT และ MG รุ่น MG EP และ MG ZS

นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการมียอดจองกว่า 600 คัน ประกอบด้วย VOLVO มียอดจองจำนวน 385 คัน BMW มียอดจองจำนวน 112 คัน MINI มียอดจองจำนวน 58 คัน Porsche มียอดจองจำนวน 58 คัน Nissan มียอดจองจำนวน 19 คัน Audi มียอดจองจำนวน 10 คัน และ TAKANO มียอดจองจำนวน 6 คัน

“จากสถิติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามแนวทางที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะในปี 2030 (พ.ศ. 2573) คิดเป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ”

นายลวรณกล่าวว่า ในวันนี้กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มขึ้น 1 ราย คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยบริษัทมีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร การลดภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย