ญี่ปุ่นถล่มอีวี…สะเทือนค่ายจีน

Toyota bz4x
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อมร พวงงาม

 

มหาอำนาจด้านยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน คงไม่มีใครเกิน “จีน”

เพราะนอกจากจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับต้น ๆ แซงหน้ายุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น ไปหลายช่วงตัวแล้ว

ยังเป็นประเทศที่มีแบรนด์รถอีวีมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์โดยสารแห่งชาติจีน (CPCA) ระบุว่า มีการจำหน่ายรถยนต์โดยสารพลังงานใหม่ในจีน รวม 2.99 ล้านคัน ในปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 169% เมื่อเทียบกับปี 2020

และเชื่อว่าตลาดยังคงโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมกราคมปี 2022 เดือนเดียวรถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายสูงถึง 372,615 คัน

การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ทำให้หลายประเทศมองค้อน และไม่อาจหยุดนิ่งได้

โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่เดิมเทน้ำหนักกับรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเป็นหลัก

แม้จะพยายามต่อยอดใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไป ยกระดับเป็นไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจน

แต่ก็ไม่สามารถทนแรงเสียดทาน และการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้

ทำให้เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โตโยต้าประกาศเดินหน้าลุยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% อย่างเต็มตัว ตั้งเป้าปี 2030 ถล่มตลาดอย่างน้อย 30 รุ่น

แสดงความมั่นใจว่าทั้งแบรนด์โตโยต้า, แบรนด์เลกซัส และแบรนด์ใหม่ bZ (Beyond Zero) จะสามารถสร้างยอดขายทะลุ 3.5 ล้านคัน

“อากิโอะ โตโยตะ” ซีอีโอโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า โตโยต้าจะมีทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถเชิงพาณิชย์, รถโดยสาร

ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นทำตลาดในประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ รวมทั้งจีนก่อน

จากปัจจุบันแบรนด์โตโยต้ามีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์, ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และเซลล์เชื้อเพลิงมากกว่า 100 รุ่น มีจำหน่ายกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

หลังจากโตโยต้าประกาศเกมรุกอีวีอย่างเต็มรูปแบบได้เพียงไตรมาสเดียว

ฮอนด้าก็ขอเดินตามพี่ใหญ่ประกาศจัดหนัก เปิดแผนใช้งบประมาณกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยจะมีรถอีวี 30 รุ่น ลงตลาดภายในปี ค.ศ. 2030 เช่นเดียวกับโตโยต้า

ฮอนด้าระบุว่าจะมุ่งพัฒนาแบตเตอรี่ ที่เรียกว่า “solid-state batteries” ที่ได้เปรียบเรื่องน้ำหนักเบาและใช้เวลาชาร์จเร็วขึ้นกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นจุดขายที่หลายคนยังไม่มี

โตชิฮิโระ มิเบะ ซีอีโอของฮอนด้า มอเตอร์ ยืนยันว่า ฮอนด้าจะพลิกการทำธุรกิจ จากการขายฮาร์ดแวร์ที่นำกลับมาใช้ไม่ได้อีก

มาเป็นการขายบริการที่ควบรวมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ตั้งใจว่าจะเป็นไปได้ในปี ค.ศ. 2026 นี้

ซีอีโอฮอนด้ากล่าวด้วยว่า งบประมาณด้าน R&D ของบริษัทช่วง 10 ปีมานี้ อยู่ที่ 7 ล้านล้านเยน และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 10%

โดยเม็ดเงินกว่า 60% จะทุ่มน้ำหนักไปกับการพัฒนารถอีวีและซอฟต์แวร์เป็นหลัก

ฮอนด้ายังมีแผนการเปิดตัวรถอีวีในจีน 10 รุ่นภายในปี 2027 เป็นรถรุ่น “e:N Series” รวมถึงจะสร้างโรงงานผลิตรถอีวีที่เมืองกว่างโจว และเมืองอู่ฮั่น

พร้อมทั้งจับมือกับค่ายจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พัฒนารถอีวีราคาประหยัด เริ่มต้นไม่ถึง 30,000 ดอลลาร์ หรือ 9.9 แสนบาท เพื่อวางขายในอเมริกาเหนือให้ได้ภายในปี 2027 ด้วยเช่นกัน

ขณะที่โตโยต้าญี่ปุ่นก็ประกาศแผนการทุ่มเงินงบประมาณของตนเองอย่างน้อย 35,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท สำหรับการพัฒนารถอีวี

การหันมาให้ความสำคัญกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของค่าย “ญี่ปุ่น” โดยเฉพาะโตโยต้า และฮอนด้า ซึ่งมีเทคโนโลยีในมือซึ่งคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับมากกว่าเทคโนโลยีจากจีน

มีเน็ตเวิร์กทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดอมริกาที่แบรนด์จีนไม่มี

เชื่อว่าน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างแรงให้กับค่ายรถยนต์จากจีนได้ไม่น้อยทีเดียว