บอร์ดอีวีกล่อมค่ายญี่ปุ่นเร่งผลิตรถ “โตโยต้า” เซ็นรายแรก

โตโยต้า Bz
Photo by Hector RETAMAL / AFP

“สุพัฒนพงษ์” บุกญี่ปุ่นกล่อมค่ายรถยนต์เดินหน้าผลิตรถอีวีในไทย สรรพสามิตชี้ “โตโยต้า” มาแล้ว เซ็นสัญญาเข้าร่วมมาตรการของรัฐบาลแน่หลังสงกรานต์นี้ อธิบดีชี้เห็นสัญญาณคนใช้อีวีมากขึ้น หลังยอดจองในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ทะลุ 3,000 คัน พร้อมยืนยันไม่ต้องกังวลลดภาษีสรรพสามิตรถอีวีเหลือ 2% ยังประกาศราชกิจจานุเบกษา การันตีมีผลย้อนหลังให้แน่นอน

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ในญี่ปุ่นทุกค่าย

ซึ่งเป็นการผลักดันการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่ารัฐบาลต้องการขับเคลื่อนนโยบายการใช้รถอีวีอย่างเต็มที่ และอยากให้ทุกค่ายรถอีวีเข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศไทย เนื่องจากแพ็กเกจมาตรการเปิดกว้างให้กับทุกค่ายรถยนต์

โดยขณะนี้กรมสรรพสามิตเห็นสัญญาณการหันมาใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้น หลังจากค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ กับค่ายเอ็มจีเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มียอดจองรถอีวีเข้ามากว่า 3,000 คัน คิดเป็น 10% จากยอดจองรถภายในงานทั้งสิ้น 30,000 คัน

“ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก โดยจากยอดจองรถดังกล่าว ผู้ประกอบการจะสามารถมาเคลมเพื่อรับเงินอุดหนุน ตั้งแต่70,000-150,000 บาท จากเราได้ แต่จะต้องมีการจดทะเบียนซื้อขายจริงเกิดขึ้นก่อน แล้วนำหลักฐานมายื่น เพื่อรับเงินอุดหนุน ดังนั้น การซื้อขายรถอีวีเริ่มขึ้นแล้ว และราคาอีวีก็ลดลงมาจริง ดีมานด์ที่ต้องการใช้รถอีวีก็เริ่มเห็นเข้ามามากขึ้น” นายลวรณกล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวด้วยว่า ยังมีค่ายรถน้องใหม่อย่างเนต้า ที่แสดงความสนใจเข้าร่วมมาตรการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับบริษัทแม่ เพื่อขอเข้าร่วมแพ็กเกจมาตรการ

ซึ่งจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ภายในปีที่ 3 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต

“ส่วนการลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวี จาก 8% เหลือ 2% เพื่อสนับสนุนให้รถอีวีมีราคาถูกลง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษานั้น กรณีดังกล่าวจะไม่มีปัญหา

เนื่องจากกระบวนการจะทันในการจำหน่ายรถอีวีลอตใหม่แน่นอน หรือหากไม่ทัน ก็สามารถระบุในประกาศให้มีผลย้อนหลังได้ ฉะนั้น ผู้ที่มีความต้องการซื้อรถอีวีไม่ต้องกังวลในเรื่องภาษีดังกล่าว จะได้รับสิทธิส่วนลดภาษีสรรพสามิตแน่นอน” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์โตโยต้าได้แสดงความสนใจขอเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันได้หลังเทศกาลสงกรานต์นี้

ซึ่งคาดว่าจะเป็นแบรนด์ bZ (beyond Zero) รุ่น 4x เป็นครอสโอเวอร์ที่นำมาเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ดังนั้น โตโยต้าก็จะเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายแรก และจะเป็นการกระตุ้นให้ค่ายรถญี่ปุ่นหลาย ๆ ค่ายเข้ามาร่วมได้มากขึ้น

“การที่โตโยต้าเข้าร่วมแพ็กเกจส่งเสริมการใช้รถอีวี ถือเป็นเรื่องที่จะกระตุ้นตลาดรถอีวีในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นค่ายรถรายใหญ่และในตลาดยังมีความต้องการรถค่ายญี่ปุ่นอยู่มาก

และจะทำให้ค่ายรถอื่น ๆ ตื่นตัว และเข้ามาแข่งขันในตลาดอีวีเพิ่มมากขึ้น ส่วนจะเห็นราคารถยนต์ลดลงมาเท่าไหร่นั้น จะต้องรอติดตาม” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ค่ายรถยนต์น้องใหม่จากจีนอีกราว 3 ค่าย ได้แจ้งความสนใจมาที่กรมสรรพสามิต เพื่อเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมใช้อีวี ได้แก่ ค่ายเนต้า จีลี่ และฉางอัน

ซึ่งขณะนี้กำลังหารือในรายละเอียดร่วมกับทางกรมสรรพสามิตอยู่ ส่วนค่ายรถญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า ก็มีความสนใจ แต่ในกระบวนการผลิต และในรายละเอียดอื่น ๆ อาจจะดำเนินการไม่ทัน โดยอาจจะเข้าร่วมแพ็กเกจได้ในปีหน้า