ลุ้นเงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ฮอนด้า นำร่องถล่มมอเตอร์ไซค์อีวี

ค่ายรถจักรยานยนต์เด้งรับแพ็กเกจอีวีสนับสนุนคนซื้อคันละ 1.8 หมื่นบาท ลุ้นผ่าน ครม.สัปดาห์หน้า ฮอนด้าแต่งตัวรอหวังลุยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเต็มสูบ เผยส่ง 2 แบรนด์ทดลองสร้างอีวีอีโคซิสเต็มมาพักใหญ่ ปลื้มตลาด 2 ล้อเครื่องโตต่อเนื่อง ด้านยามาฮ่าขอดูความชัดเจน ขณะที่สมาคมผู้ผลิตฯชี้เงินอุดหนุนไม่จูงใจ จี้รัฐเร่งเครื่องสถานีชาร์จ

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี พยายามเร่งรัดคลอดมาตรการจูงใจให้ประชาชนใช้รถอีวีโดยเตรียมชงแพ็กเกจสนับสนุนเข้าคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในแพ็กเกจดังกล่าวครอบคลุมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถปิกอัพ และรถบรรทุกด้วย

ไทยฮอนด้าพร้อมบุกอีวี

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า เปิดเผยว่า บริษัทแม่ฮอนด้ามีนโยบายชัดเจนที่จะมุ่งสู่การลดไอเสียจากยานยนต์

ดังนั้น ไทยฮอนด้าฯกำลังพัฒนาไปตามนโยบายบริษัทแม่ รวมทั้งบริษัทพร้อมสนับสนุนส่งเสริมนโยบายจากภาครัฐอย่างเต็มที่โดยพิจารณาการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีระบบสาธารณูปโภคและการยอมรับของลูกค้า สำหรับฮอนด้ามีแผนทำตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว

โดยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันบริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าฮอนด้า PCX EV จำนวน 150 คัน และ Benly e จำนวน 100 คัน เข้ามาทดลองใช้ในประเทศไทย

“การปลุกตลาดรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศมีการตั้งเป้าหมายและการสนับสนุนที่ชัดเจน บ้านเราช่วงหลังก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น ซึ่งฮอนด้าต้องร่วมมือเพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้เป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ตั้งไว้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

ส่วนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับรถจักรยานยนต์อีวีนั้นยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ แต่อนาคตจะต้องเป็นการปรับสัดส่วนระหว่างรถอีวีและเครื่องยนต์ให้เหมาะสม”

เร่งมือสร้างอีวีอีโคซิสเต็ม

ทางด้าน นายทาคาโนริ มารุยามะ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างสรรค์เทคโนโลยีสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

ถือว่าฮอนด้าพยายามศึกษาการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในเชิงอีโคซิสเต็มร่วมกับพันธมิตรทั้งสถาบันการศึกษาระดับประเทศ และทดลองใช้งานร่วมกับธุรกิจขนส่งชั้นนำ ล่าสุดฮอนด้าได้ยกระดับการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับทางดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) เพื่อนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของฮอนด้ามาลองใช้ขนส่งสินค้า

สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่นำมาใช้ในครั้งนี้มี 2 รุ่น ได้แก่ PCX EV ซึ่งมีจุดเด่นในด้านความสะดวกสบายในการขับขี่ และ Benly e ที่ออกแบบมาเพื่อการพาณิชย์โดยเฉพาะ

ด้านหลังสามารถติดตั้งกล่องเก็บของได้หลากหลายประเภทเพื่อการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ ทั้ง 2 รุ่นใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ และมีการติดตั้งสถานีสับเปลี่ยน battery swapping station เพื่อชาร์จแบตเตอรี่สำรองตลอดเวลา

ก่อนหน้านี้ฮอนด้ายังได้เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการเติมพลังงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ติดตั้งจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในเขตกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2563

ปลื้มตลาดโตต่อเนื่อง

ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยฮอนด้าฯ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้รวมกิจการระหว่างไทยฮอนด้าฯ (โรงงาน) และบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า (ฝ่ายขาย-การตลาด) เป็นบริษัทเดียว

ส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตและทำตลาดมอเตอร์ไซค์อีวี เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และฮอนด้าน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 2 ปีเพื่อดูความพร้อมและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรถจักรยานยาน์อีวีรวมทั้งแผนการตั้งโรงงาน

ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้บริษัทเตรียมเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่อย่างน้อย 7-8 รุ่น และคาดว่าจะมียอดขายทั้งปีที่ 1,300,598 คัน โต 5% จากปีก่อนที่ขายได้ 1,236,476 คัน ขณะที่ตลาดรวมปีนี้น่าจะพุ่งไปสูงถึง 1,644,391 คัน

ด้านนายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้จะมีอัตราการเติบโตอย่างน้อย 2% หรือมียอดขายราว 1.64 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มียอดขายทั้งสิ้น 1.61 ล้านคัน

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยบวกหลังจากตลาดเริ่มส่งสัญญาณดีมาตั้งแต่ช่วงควอเตอร์สุดท้ายของปี 2564 ประกอบกับปี 2565 คาดว่าจะมีการลงทุนต่าง ๆ จากภาครัฐเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิดที่เริ่มลดความรุนแรงลง บวกกับเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

สำหรับยามาฮ่าตั้งเป้ายอดขายปี 2565 ที่ 287,000 คัน โต 8% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 17.5% จากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 266,000 คัน โต 11.% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 16.5% ส่วนในอนาคตภายในปี 2569 หรือ 3 ปีจากนี้ยามาฮ่าตั้งเป้าจะกลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 20%

ยามาฮ่ารอทุกอย่างชัดเจน

ขณะที่ความคืบหน้าและความสนใจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รองประธานกรรมการบริหาร ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดขอให้รอถึงระยะเวลาที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

แผนธุรกิจตอนนี้มีนโยบายมุ่งเน้นทำตลาดต่อเนื่อง และเตรียมเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ถึง 9 รุ่น หลากหลายครบทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งรวมถึงบิ๊กไบก์ควบคู่ไปกับการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในการประกันคุณภาพสินค้า 5 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 500 ซีซี

“ปีที่ผ่านมาเราเผชิญปัญหาด้านการผลิตโดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้รถบางรุ่นขาดสต๊อกแต่ยามาฮ่าทำงานร่วมกับผู้แทนจำหน่ายเพื่อนำเสนอรถรุ่นใกล้เคียงให้กับลูกค้า ซึ่งได้การตอบรับที่ดีโดยมีบางคนหันมาหาแกรนด์ ฟีลาโน่ ซึ่งลูกค้าก็พอใจและสามารถบริหารจัดการสต๊อกได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาการขาดซัพพลายจะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ และกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติในปี 2566”

นอกจากนี้ ยามาฮ่ายังมีแผนที่จะปรับปรุงโชว์รูม จัดจำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่าตามมาตรฐานใหม่ (CI) เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกับยามาฮ่า พรีเมี่ยม เซอร์วิส โดยนำศูนย์ “ยามาฮ่าสแควร์” กลับมาทำใหม่

และเป็นการปรับใหญ่ในรอบ 17 ปี โดยปัจจุบันมี 10 แห่งทั่วประเทศ และปีนี้จะเพิ่มอีก 60 แห่ง

เงินอุดหนุน 1.8 หมื่นน้อยไป

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการผลิตรถจักรยานยนต์อีวีในประเทศไทยว่า ผู้ผลิตต่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ

สิ่งที่อยากให้พิจารณานอกจากเรื่องการสนับสนุนทางด้านภาษีแล้ว มีข่าวว่ารัฐจะให้เงินสนับสนุนคันละ 15,000-18,000 บาทนั้น เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายของมอเตอร์ไซค์อีวีถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยและไม่จูงใจ เนื่องจากรถประเภทนี้มีราคาค่อนข้างสูงมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป ถึงเวลาลูกค้าก็ต้องหันไปซื้อรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปหลังเปรียบเทียบราคา

“ที่ไต้หวันซึ่งเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์อีวี เขาให้การสนับสนุนด้านราคาถึง 50% เพื่อนำมาเป็นส่วนลด”

จี้รัฐปูพรมสถานีชาร์จ

เช่นเดียวกับการสนับสนุนโครงสร้างสถานีชาร์จหรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งเอกชนจะต้องลงทุนอย่างน้อย 5 แสน-1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง และหากรัฐเข้ามาสนับสนุนเช่นเดียวกับสถานีชาร์จรถยนต์อีวีก็น่าจะช่วยผลักดันให้รถจักรยานยนต์อีวีเกิดเร็วขึ้น

และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างชัดเจนน่าจะได้เห็นรถจักรยานยนต์อีวีทยอยลงตลาดมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เริ่มมีแบรนด์คนไทยเข้ามาเสริมตลาดบ้างแล้ว เช่น กลุ่มเอช เซม มอเตอร์ ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทางด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนแล้ว และคาดว่าคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (บอร์ดอีวี) จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้เร็วๆนี้

ในเบื้องต้นคาดว่าจะลดภาษีเป็นแพ็คเกจ ทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น บางประเทศเก็บ 0% บางประเทศ 20- 40% ให้ลดลงมาในระดับที่แข่งกันกันได้ รวมถึงอัตราภาษีสรรพสามิตก็ปรับจะลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนรถอีวี จะไม่ได้เป็นการลดภาษี หรือมีเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อให้ซื้อรถยนต์ราคาถูกอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศในระยะยาว โดยผู้ประกอบการรถยนต์ที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ จะต้องมีเงื่อนไขเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยด้วย

เพราะมาตรการนี้มีเจตนาหลักต้องการ ให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามา แทนรถยนต์พลังงานสันดาป เช่น หากบริษัทไหนเข้าร่วมมาตรการ และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 100,000 คัน ก็มีเงื่อนไขต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 150,000 คัน ภายใน 2-3 ปี เป็นต้น (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่)