ภาวะสงครามหนุนดีมานด์ทองคำพุ่งขึ้นทั่วโลกกว่า 34%

วิกฤตการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์กระตุ้นความสนใจหนุนความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมตลาด OTC) ในไตรมาส 1/65 เพิ่มขึ้น 34% ขณะที่ประเทศไทยความต้องการทองคำลดลง 54%  จากความอ่อนไหวต่อราคาที่สูงขึ้นและการลงทุนใน Paper Gold ทำสัดส่วนความต้องการถือทองคำลดลง

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor) ผู้บริหารประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมจีน) สภาทองคำโลก กล่าวว่า   ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมตลาด OTC) ในไตรมาส 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  ผลจากกระแสเงินทุนที่แข็งแกร่งในกองทุนรวมดัชนี (ETF)  ชี้ให้เห็นถึงสถานะทองคำที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจผันผวน

ขณะที่ความต้องการซื้อทองคำของผู้บริโภคในประเทศไทยลดลงจาก 8.3 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไปอยู่ที่ 3.8 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งนับว่าลดลงถึงร้อยละ 54   ซึ่งผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อราคา และด้วยราคาขายภายในประเทศที่สูง นักลงทุนจำนวนมากจึงเลือกขายทำกำไรเมื่อราคาถึงเป้าที่ตั้งไว้  นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทองคำในประเทศไทยยังคงเผชิญกับคู่แข่งสำคัญอย่างการลงทุนแบบไม่ต้องถือครองผลิตภัณฑ์หรือที่เรียกว่า Paper Gold

นายแอนดรูว์ กล่าวต่อว่า  แม้ความต้องการซื้อเครื่องประดับตอนนี้ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่การกลับมาเปิดประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงชะลอการซื้อสินค้าราคาสูงอย่างทองคำไว้ก่อนและเลือกที่จะขายทำกำไรจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

สำหรับวิกฤตการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกและกระตุ้นความสนใจของนักลงทุน ดันราคาทองคำไปอยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับว่าต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำ (Gold Demand Trends Report) ฉบับล่าสุดของสภาทองคำโลกเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมทองคำ (Gold ETF) มีเงินทุนไหลเข้ารายไตรมาสสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ที่ 269 ตัน มากกว่าเงินทุนไหลออกสุทธิรายปีซึ่งอยู่ที่ 173 ตันในปี 2564 โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากราคาทองคำที่สูงขึ้น

แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor)
แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor)

ในขณะเดียวกันความต้องการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำปรับสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบห้าปทองคำ อยู่ที่ร้อยละ 11 หรือ 282 ตัน แต่การที่จีนประกาศปิดประเทศอีกครั้งและราคาทองที่สูงในตุรกีล้วนมีส่วนทำให้ความต้องการซื้อทองลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่สูงอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี 2564

นอกจากนั้นทางด้านการซื้อสุทธิของธนาคารกลางมีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีทองคำสำรองอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นมากกว่า 84 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในภาคส่วนนี้คือประเทศอียิปต์และตุรกี แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2564 ถึงร้อยละ 29 แต่ธนาคารกลางก็ยังคงให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของทองคำในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้

ด้าน หลุยส์ สตรีท (Louise Street)  นักวิเคราะห์อาวุโสประจำยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า  ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นช่วงแห่งความผันผวน ทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมือง อุปสรรคในห่วงโซ่การผลิต และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เหตุการณ์และสภาวะตลาดทั่วโลกเหล่านี้ทำให้ทองคำมีสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับนักลงทุนเท่านั้นแต่ยังปลอดภัยสำหรับผู้บริโภครายย่อย ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนชนิดที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งสองประเภท

“จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดในปัจจุบันคาดการณ์ได้ว่า ความต้องการลงทุนจะยังคงมีมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงและความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความต้องการทองคำในกลุ่มนักลงทุน แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็กำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลก ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคจะระมัดระวังในการใช้เงิน แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความต้องการซื้อเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจหยุดชะงัก ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป” หลุยส์ สตรีท กล่าว