เงินเฟ้อพายุลูกที่ 3 เข้าไทย โจทย์หิน ธปท.คงดอกเบี้ยต่ำกระทบบาทอ่อน

เงินบาท

“ปิติ” ชี้ปัญหาเงินเฟ้ออาจเป็นพายุลูกที่ 3 กระทบคนไทยหลังค่าครองชีพพุ่ง รายได้โตไม่ทันรายจ่าย เชื่อโจทย์ยากของ ธปท.คงดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้แรงกดดันเงินบาทอ่อนค่า แนะรัฐเน้นช่วยคนเดือดร้อน-ยิงมาตรการเฉพาะกลุ่ม พร้อมดึงคนเข้าระบบทำลักษณะ Co-Pay คนรายได้มากช่วยคนรายได้น้อย

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ดร.ปิติ ตัณฑเกษม กรรมการสมาคมธนาคารไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb กล่าวในงาน Post Today Forum 2022 “รวมพลังก้าวข้ามวิกฤต เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ภาคเอกชนผนึกกำลัง เร่งเครื่องเศรษฐกิจ” ว่าตอนนี้ประเทศไทยเจอพายุซ้อนพายุ คือ พายุโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง และมาเจอพายุความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น

ปิติ ตัณฑเกษม
ปิติ ตัณฑเกษม

ดังนั้น ไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วจะกลายเป็นพายุลูกที่ 3 ซึ่งก็เป็นโจทย์ความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะหากเรายืนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยประชาชนและพยุงเศรษฐกิจ ภายใต้ไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปอีกจะทำให้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ โดยอยากให้เรียกว่า คนละครึ่ง ภาค 2

อย่างไรก็ดี การช่วยเลือกจำเป็นต้องเลือกช่วยให้ตรงจุด โดยช่วยกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนก่อน ซึ่งไม่ได้ช่วยเหลือทั้งหมด เช่น ค่าก๊าซจำเป็นจะต้องเลือกคนช่วย คนที่เดือดร้อนก็ใส่เงินมากหน่อย หรือกลุ่มที่เงินเฟ้ออาจจะไปกระทบกับเขาได้

“จากเดิมการช่วยเหลือเราจะยิงแบบปืนกล แต่นั้นยอมรับได้เพราะทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมดตอนที่มีการปิดประเทศล็อกดาวน์ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มทยอยฟื้นตัว คนเริ่มออกมาทำงานได้ เราจะต้องเปลี่ยนการช่วยเหลือจากปืนกลเป็นสไนเปอร์ ยิงคนที่เดือดร้อนก่อน โดยดูผลจากเงินเฟ้อว่ามีผลกับอะไรบ้าง

เช่น ต้นทุนพลังงาน ซึ่งจะส่งผลต่อขนส่งและภาคการผลิต หรือครัวเรือนที่ต้องเติมก๊าซ หรือค่าไฟเราจะต้องเติมอย่างไร ภายหลังจากเราทำโครงการบนกระเป๋าตัง ภาครัฐน่าจะมีข้อมูลที่ดีขึ้น การยิงการช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่มน่าจะดีขึ้น โดยมองว่าการกู้เงินเพื่อมาช่วยเหลือยังจำเป็นอยู่ เพราะก็ตอนนี้เพื่อช่วยเหลือตอนนี้ ดีกว่าปล่อยให้ เงินเฟ้อวิ่งไป และไปแก้ตอนท้ายต้นทุนในการแก้ไขจะยิ่งแพงกว่ามาก”

ดร.ปิติกล่าวอีกว่า ตอนนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหา 5-6 เรื่อง คือ 1.เอสเอ็มอีอ่อนแอ แต่ธุรกิจรายใหญ่แข็งแรง ซึ่งทางออกจะต้องเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาแค่เงินทุนเท่านั้น แต่จะต้องมี Business Model หรืออยู่บนแพลตฟอร์มที่สามารถให้ธนาคารสามารถพิจารณาข้อมูลได้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่ต่ำ โดยกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย (TBA) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Smart Infrastructure ที่จะให้เอสเอ็มอีมาอยู่บนระบบ รวมถึงก่อให้เกิดเศรษฐกิจผีเสื้อและดอกไม้ระหว่างเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่

2.ภาคเศรษฐกิจหลักโดนความท้าทายมากขึ้น เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่โดนกระทบจากรถยนต์ EV หรือภาคการท่องเที่ยว-สุขภาพ โดนกระทบจากโควิด-19 หรือเศรษฐกิจสีเขียวจากกติกาโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในกลุ่ม New S Curve และปัญหาที่ 1 และ 2 นำมาสู่ปัญหาที่ 3 การรวยกระจุกและจนกระจาย คือ ปัญหารายได้โตไม่พอรายจ่าย ดังนั้น แนวทางการแก้ไข จะต้องดึงคนที่มีรายได้สูงเข้ามาระบบ Negative Income Tax โดยคนที่มีรายได้มากจ่ายภาษี และคนที่มีรายได้น้อยได้เงินกลับไป เรียกว่าเป็น Co-Pay ซึ่งคนรายได้น้อยได้เงินไปก็ไปใช้จ่ายในร้านค้าเอสเอ็มอี ทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถชนะเงินเฟ้อได้ และเอสเอ็มอีก็สามารถขายของได้ เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง

และ 4.การกระจายอำนาจและความเจริญสู่ท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้สามารถกระจายศูนย์ให้มากขึ้นเหมือนประเทศจีนที่แต่ละเมืองมีจุดเด่น จุดขายแตกต่างกัน ซึ่งหากไทยแก้จุดนี้ได้จะช่วยให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง Middle Income Gap และ 5.โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจเก่า โดยไทยมีงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 12 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าประมาณ 98.7% เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และมีเพียง 1.3% ที่ลงทุนในด้านดิจิทัล ซึ่งหากไทยยังกระจายงบฯการลงทุนในลักษณะนี้จะเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ยาก

สุดท้าย 6.ระบบข้าราชการใหญ่ กติกาล้าสมัย จะเห็นว่างบประมาณภาครัฐบาล 3 ล้านล้านบาท ประมาณ 80% เป็นรายจ่ายประจำ และที่เหลือ 20% เป็นงบฯที่เกี่ยวกับโครงการ PPP มากขึ้น อย่างไรก็ดี จะทำอย่างให้งบฯรายจ่ายประจำ 80% สามารถผันไปให้บริษัทภายนอก (Outsource) ภาคเอกชนทำแทน รวมถึงการศึกษากฎกติกาของต่างประเทศ จะเห็นว่าเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 11 เดือนในการทำลายหรือฆ่ากฎหมายล้าหลังไปมากกว่า 1.1 หมื่นฉบับ

“ประเทศไทยก็เปรียบเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ เราจะต้องมี Model ที่ถูกต้อง และจัดสรรทรัพยากรให้เหมาพสม โดยจะต้องมีการ Re-Process RE-Engineer และ Lean เพราะถ้าดูไทยเรามีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะมีจำนวนประชากรอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกจาก 700 ประเทศ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอันดับ 13 ของโลก แต่มีรายได้ประชากรเทียบเท่าประเทศกาบอง ดังนั้น เราต้องมาดูปัญหาและหาแนวทางแก้ไข”