ทำไม 4 ยักษ์ธุรกิจไทย “ปตท.-ซีพีเอฟ-AIS-เอสซีจี” กอดคอกำไรร่วง

หุ้นไทย หุ้นร่วง

ส่องผลประกอบการ 4 ยักษ์ธุรกิจชั้นนำของประเทศ “ปตท.-ซีพีเอฟ-เอไอเอส และ SCG” กอดคอกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ร่วง ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง -กำลังซื้อชะลอตัว ซีพีเอฟกำไรร่วง 59% ปตท.เจอผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์-สัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันกว่า 4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน อาหาร วัสดุก่อสร้างและสื่อสารโทรคมนาคม

ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์ จำกัด (มหาชน) พบว่า กำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้ของทั้ง 4 บริษัทลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา แม้ว่าบางบริษัทจะมีรายได้หรือยอดขายเพิ่มขึ้นก็ตาม ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ

CPF กำไรร่วง 59% ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งผลการดําเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 ระบุว่า บริษัทมีรายได้จํานวน 138,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,842 ล้านบาท ซึ่งลดลง 59% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โดยมีสาเหตุหลักจากอัตรากําไรขั้นต้นที่ลดลง

โดยในไตรมาส 1/2565 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13% ลดลงจาก 20% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็น ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน และราคาสุกรในบางประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประกอบกับส่วนแบ่งกําไรจากเงินลงทุน ลดลง 2,379 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากผลการดําเนินงานของบริษัทร่วมในประเทศจีนลดลงจากราคาสุกรที่ปรับลดลงและราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น

 

ปตท.ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์

สำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT ที่ถือว่าเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปอันดับหนึ่งของประเทศไทย แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทและ และบริษัทย่อย ไตรมาส1/65 มีรายได้จากการขายรวม 758,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปีก่อน 58.7% จากทุกกลุ่มธุรกิจโดยรายได้ของกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กล่มุธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และกล่มธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมถึงปริมาณขายโดยรวมเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) นไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 142,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39,704 ล้านบาท หรือ 38.5% โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิไตรมาส1/65 อยู่ที่ 25,571 ล้านบาท ลดลง 7,017 ล้านบาท หรือ 21.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ 48,979 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 41,581 ล้านบาท หรือมากกว่า 100%

โดยหลักมาจากการขาดทุนสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ที่ราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

รวมถึงมีภาระภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้จำนวน 21,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.2% โดยหลักมาจาก PTTEP จากโครงการในประเทศไทยและประเทศโอมานตามกำไรที่เพิ่มขึ้น

“เอสซีจี” ผลกระทบต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น

ขณะที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือเอสซีจี ชื่อหลักทรัพย์ SCC รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 บริษัทฯและบริษัทย่อยรายได้จากการขาย 152,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ สาเหตุหลักจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด

แต่กำไรสุทธิ 8,844 ล้านบาท ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับในช่วงต้นปี 2564 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ สาเหตุจากวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้อุปทานมีอยู่อย่างจำกัด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า บริษัทยังคงแข็งแกร่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งบริษัทรับมือกับสภาวะดังกล่าว โดย เร่ง 4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก ได้แก่ 1.) บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก 2.) ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที 3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต 4.) เร่ง ESG สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว

AIS กำลังซื้อทรุดฉุดรายได้-กำไรร่วง

ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ชื่อหลักทรัพย์ ADVANC ระบุว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2565 ธุรกิจยังเผชิญกับความท้าทายกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังสร้างความกังวลและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดยไตรมาสแรกปีนี้ เอไอเอสมีรายได้รวม 45,279 ล้านบาท ลดลง 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิจำนวน 6,311 ล้านบาท ลดลง 5.0% เป็นผลจากการอ่อนตัวของรายได้จากการให้บริการ รวมทั้งการลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติมในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนบริการโดยรวมและค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชื่อหลักทรัพย์ ADVANC กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศยังคงเจอกับสถานการณ์ความท้าทายอย่างรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ทำให้ภาพรวมรายได้ของเอไอเอสมีอัตราการเติบโตลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้าลงทุนขยายศักยภาพโครงข่ายของ 5G ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพราะเชื่อว่าดิจิทัลเทคโนโลยี คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว