กอบศักดิ์ ภูตระกูล ทำนาย 5 ปัจจัย ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง “ร่วงหรือรอด”

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
สัมภาษณ์พิเศษ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ประเมินเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ผ่าน 5 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ-นโยบายการเงินของประเทศสำคัญ-สงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าเงิน และโควิด-19

เงินเฟ้อสูงคุกคาม ศก.ไทย

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า ปัจจัยแรกก็คือ เรื่องเงินเฟ้อจะคุกคามประเทศไทยไปอีกระยะ อย่างน้อยจะลากยาวไปถึงเดือนกันยายน และจะค่อย ๆ ปรับลดลง เพราะฐานราคาน้ำมันโลกเริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งตอนนี้อัตราเงินเฟ้อก็ค่อย ๆ ลดลงมาแล้ว เมื่อดูจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย.

จากที่เคยขึ้นไปอยู่ที่ 5.7% และลดลงมาอยู่ที่ 4.7% เนื่องจากราคาหมวดน้ำมันในเดือน เม.ย. ไม่ได้โตเยอะเหมือนก่อนหน้านี้ โดยประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันโลกอยู่ในกรอบ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะมีผลคุกคามต่อประเทศไทยไม่มากนัก

ขณะที่รัฐบาลได้พยายามขึ้นราคาน้ำมันในประเทศแบบ “ขั้นบันได” เนื่องจากประเมินแล้วว่า ราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน การแซงก์ชั่นรัสเซียไม่จบเร็ว หากรัฐบาลยังตรึงราคาน้ำมันต่อไปนาน ๆ เมื่อวันที่ราคาน้ำมันพุ่งทะยานอีก สุดท้ายก็จะเหมือนกระโดดลงเหว ทุกคนจะเสียหาย

“เรื่องเงินเฟ้อต่อจากนี้จะอยู่ที่ราคาน้ำมันโลก จากการแซงก์ชั่นรัสเซียว่าจะดันราคาน้ำมันโลกขึ้นไปแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้เงินเฟ้อจะลดลงบ้างแล้ว จากที่เคยขึ้นไปถึง 4-5% ก็อาจลงมาอยู่ที่ 3% แต่จะไม่กลับไปอยู่ที่ 0-1% เหมือนหลายปีก่อนหน้าแล้ว” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

นโยบายการเงินพาผันผวน

ปัจจัยที่ 2 ที่ต้องจับตามองในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ความผันผวนจากการปรับนโยบายการเงินของประเทศหลัก ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ตามมาหลังจากออกจากวิกฤต โดยเปรียบว่า

“เหมือนเวลาคนไข้ไม่สบายก็ถูกจับเข้า ICU หลายประเทศลดดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่อง แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็ต้องทยอยถอดเครื่องช่วยเหลือและพาออกจากห้อง ICU ตอนใส่เครื่องเข้าไปก็ลำบากช่วงหนึ่ง ต้องปรับตัว แต่พอจะถอดเครื่องออกก็จะลำบากอีกที เพราะคุ้นเคยกับเครื่องแล้ว”

เปรียบเหมือนกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตลาดต่าง ๆ ผันผวนมา 2-3 สัปดาห์ หุ้นตกระเนระนาด รวมถึงฟองสบู่ต่าง ๆ เพราะคนกลัวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถอดสภาพคล่องออกไป เอาดอกเบี้ยต่ำออกไป ตัวฟองสบู่ที่เคยถูกปั่นก็จะแฟบลง นักลงทุนที่ไม่ต้องการถือสินทรัพย์เหล่านี้ในช่วงมันแฟบก็ขายแข่งกันเพราะต้องการออกจากประตูนี้ก่อน ไม่มีใครอยากอยู่เป็นคนสุดท้าย

สถานการณ์หลายวันมานี้จึงส่งผลต่อหุ้นหลายตัว ตัวอย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เน็ตฟลิกซ์ราคาตกไปกว่า 70% NVDIA ซึ่งเป็นคนทำการ์ดจอที่น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีมากในโลกขณะนี้ ราคาหุ้นร่วงไป 70% เทสลาตกไป 50% อเมซอน เมต้า แอปเปิล ลดลงกว่า 30% เป็นต้น นี่คือผลจากการเฟดดึงสภาพคล่องและการปรับตัวของนักลงทุน

ประเด็นต่อมาจากการปรับนโยบายการเงินของเฟดก็คือ “เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น” ล่าสุด (14 พ.ค.) ดัชนีดอลลาร์ (USD Index) ไปอยู่ที่ 104 จุด ซึ่งนับว่าแข็งค่าฝ่าแนวต้าน และทำให้ทุกคนมองการนำเงินกลับไปสู่อเมริกา เพราะทั้งได้ดอกเบี้ยสูงบวกกับค่าเงินแข็งด้วย ส่วนเงินสกุลอื่น ๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์จึงอ่อนค่าทำนิวโลว์

“ตอนนี้อเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์แข็งค่า ส่วนญี่ปุ่นคงดอกเบี้ย จีนลดดอกเบี้ยแถมฉีดสภาพคล่อง ยุโรปชะลอดูก่อน และถ้าเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.50% ต่อเนื่องไปปลายปีก็จะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2.75-3.00% นักลงทุนก็ต้องกู้จากที่ดอกเบี้ยถูกไปปล่อยแพง ความท้าทายช่วงระหว่างการย้ายเงินนี้ จึงทำให้ปีนี้เป็น economic turbulence 2022 คือ มันจะผันผวนจาก 2 ปีก่อนที่ตลาดเงินตลาดทุนซึม ๆ เซื่อง ๆ มานาน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดอลลาร์แข็งค่า บาทอ่อน

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ นโยบายการเงินของไทย “ยังพอมีเวลา” และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะเริ่มพูดถึงเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี เพื่อรอประเมินสถานการณ์ของภาคท่องเที่ยวว่า ไปต่อได้ขนาดไหน

“ขณะนี้ผลพวงจากค่าเงินบาทอ่อนเทียบดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศคู่ค้าคู่แข่งก็อ่อนพอ ๆ กัน มันดีกับประเทศไทย และผมคิดว่ายังอ่อนได้อีกนิด ธปท.เคยเจอบาทอ่อนไปถึง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว เขาก็บริหารจัดการได้ ตอนนี้บาทอ่อนดีต่อส่งออก ท่องเที่ยว ภาคเกษตร ถ้า 3 ภาคนี้ไปได้ เศรษฐกิจโดยรวมก็พอไปได้ แม้อีกด้านมันจะซ้ำเติมเรื่องราคาน้ำมัน แต่รัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

สงครามดันราคาน้ำมันวิ่งขึ้น

ดร.กอบศักดิ์บอกชัดว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนจะ “ไม่จบง่าย” เนื่องจากคนที่อยากต่อสู้กันจริง ๆ ยังไม่อยากจบ เพราะครั้งนี้เกิดจากสหรัฐอเมริกาและนาโต้ใช้สมรภูมิยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย เพื่อบั่นทอนแสนยานุภาพของกองทัพรัสเซียให้ได้มากที่สุด

ดูจากที่สหรัฐอนุมัติงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยเหลือยูเครนด้านความมั่นคง และคนที่เสียหายมากที่สุดคือ ประชาชนยูเครน รวมถึงสงครามนี้ได้ดันราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 4 ให้อยู่ระดับสูงต่อไป ซึ่งประเมินว่าปีนี้ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลต่อไป ถ้าสถานการณ์ไม่บานปลาย

โควิดนิ่งท่องเที่ยวคือความหวัง

ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า แม้ 4 ปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาก่อนหน้าทำให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจระยะข้างหน้าจะแย่ แต่สิ่งที่ประเทศมีอยู่และกำลังรอใช้คือ ภาคท่องเที่ยว (หลังโควิดผ่อนคลายลง) ดังนั้นหลังจากนี้ การเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวจึงต้องจับตาดูที่ตัวเลข Thailand Pass ที่มีคนลงทะเบียนเข้าประเทศปีนี้

ดังนั้นท่องเที่ยวคือ engine สำคัญ ถ้าทำได้ดีก็จะคึกคักตามที่ทุกคนคาดหวัง นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดูแลสถาบันการเงินในประเทศให้เข้มแข็ง เงินสำรองให้มีเพียงพอ ดูแลการคลังให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น ให้เศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี โดยเฉพาะการฟื้นภาคท่องเที่ยว

“เรามีเวลาเตรียมการอีก 1 ปีถึงปีครึ่ง เพื่อเตรียมการเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนบางเรื่อง เช่น คนละครึ่ง ไม่จำเป็นแล้ว อย่าไปทำ เสียตังค์เปล่า ๆ เรื่องต้นทุนพลังงานที่จะเริ่มบั่นทอนถึงเวลาก็ลดออกไป จะได้มีช่องว่างเหลือบ้าง และฐานะประเทศก็จะดูดีขึ้น ส่วนท่องเที่ยวต้องเอาจริงเอาจัง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว