ปิดตำนานเหรียญ Terra Luna จาก “ท็อปเทน” สู่ไร้มูลค่า

LUNA
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ปิดตำนานเหรียญ Terra Luna จาก “ท็อปเทน” สู่ไร้มูลค่า เขย่าขวัญนักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่ทั่วโลก

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ปรากฎการณ์ราคาเหรียญ Luna ตกสวรรค์ในชั่วพริบตาเดียวเขย่าขวัญนักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี่ทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราเองด้วย โดยฉพาะในแง่ที่ว่าคนไทยมีสัดส่วนต่อประชากรของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นผู้ถือครองคริปโตมากอันดับ 1 ของโลก ที่ 20.1%

ขณะที่ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 10.2% (ข้อมูล ณ เดือนม.ค.2565 จากการจัดทำข้อมูลของ We Are Social และ Hootsuite)

ย้อนรอย Stablecoin จุดพลุคริปโต

ในอดีตการใช้เงินสดหรือเงินเฟียสเพื่อซื้อคริปโตเคอเรนซี่ทำได้ยาก ทั้งด้วยสถานะทางกฎหมายที่ก้ำกึ่ง และยังไม่รู้จักแพร่หลาย เพราะซื้อขายยาก สภาพคล่องต่ำ กระทั่งในปี 2557-2560 มี สกุลเงินดิจิทัล Stablecoin ซึ่งมีกลไกการตรึงราคาด้วยสกุลเงินหลักของโลก ถือกำเนิดขึ้น

โดยเฉพาะโทเคน USDT ที่ออกโดยบริษัท Tether กลายเป็นที่นิยมในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ ซึ่ง Tether ใช้วิธีสร้างโทเคนบนบล็อคเชน Bitcoin และ Ethereum ที่มีการอ้างอิงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราส่วน 1 USD ต่อ 1 USDT เสมอ

จากนั้นเป็นต้นมาก็มี Stablecoin รูปแบบใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาด สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน

ในราวปี 2019 เกิดนวัตกรรม Stablecoin ใหม่ที่ฮือฮาทั้งโลกคริปโต คือ การใช้ Algorithm ของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลรักษามูลค่าของ Stablecoin ของตน ในชื่อโปรเจ็กต์ UST (Terra USD) เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนสมาร์ทคอนแทร็ค ชื่อ Terra โดยมีเหรียญ LUNA เป็น Utility Token ดั้งเดิมประจำเชน คล้ายกับ Ethereum, BNB และ KUB ทั้งเป็น Governance Token เพื่ออ้างสิทธิ์ในการโหวตโครงการต่างๆ ของ Terra ได้ด้วย นั่นทำให้ LUNA มีมูลค่าขึ้นลงตามความต้องการใช้งานเครือข่ายบล็อกเชน Terra

กำเนิด Terra LUNA

“Do Kwon”ชาวเกาหลีเป็นผู้ริเริ่มนำกลไกการสร้าง UST มาใช้ในราวปี 2020-2021 โดยหลัก UST ของ Terra ใช้วิธีเผาเหรียญ LUNA มูลค่า 1 USD เพื่อสร้าง 1 UST หมายความว่าเมื่อ UST ในระบบมีเพียงพอกับความต้องการก็จะสามารถคงมูลค่าไว้ได้ หาก UST หลุดจาก 1 USD อัลกอริทึ่มจะดึงเอา UST มาเผาเพื่อรักษาปริมาณ UST ที่หมุนเวียนอยู่ให้น้อยลง

แต่หาก LUNA หรือ UST มีมูลค่าสูงขึ้นก็จะมีการเผา LUNA เพื่อสร้าง UST ขึ้นมาในระบบเพื่อให้สมดุล ระบบนี้ทำให้ LUNA กลายเป็นสินทรัพย์ที่ร้อนแรงมากเพราะยิ่งระบบนิเวศคริปโตเคอร์เรนซี่ เติบโตการใช้ Stablecoin จะมากขึ้น ต้องมีการเผา LUNA เพื่อสร้าง UST มากขึ้นจนดันราคา LUNA ไปถึงจุดสูงสุดราว 120 เหรียญสหรัฐ ทำให้ Terra เป็นโปรเจ็กบล็อกเชนที่มี Market cap สูงติด 1 ใน 10 ของตลาดทันที

ปรากฎการณ์ชอตเซล

เดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา Do Kwon เจ้าของโปรเจ็ก Terra ได้พากองทุน LUNA foundation Guard เข้าซื้อ Bitcoin เพิ่มอีกราว 40,000 BTC ที่ราคา 40,000-45,000 ดอลล่าสหรัฐ/BTC และสร้างสภาพคล่องในแพล็ตฟอร์ม Dex (Decentralize Exchange) ของ Terra เอง ด้วยการเพิ่มคู่เหรียญ USDC FRAX UST และ USDT (4Pools)โดยเข้าซื้อและให้ดอกเบี้ยฝากที่สูงเพื่อจูงใจผู้ถือเหรียญเหล่านี้ให้นำมาฝากไว้ใน Dex ของระบบเพื่อใช้แลกเปลี่ยนในระบบนิเวศได้ดียิ่งขึ้น

การลงทุนครั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบนิเวศหวังให้ UST มีสภาพคล่องมากขึ้น กล่าวคือ หากอัลกอริทึ่มของ LUNA และ UST ทำงานได้ไม่ดี กองทุนดังกล่าวสามารถขาย Bitcoin ออกมาเป็น UST ดึงสภาพคล่องจาก Dex ของตนมาพยุงราคา UST ได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อสถานการณ์ตลาดโลกไม่ดี จากปัจจัยกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของ FED เกิดการเทขายทรัพย์สินเสี่ยง ทำให้ Bitcoin ผู้นำตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่โดนเทขายลงมา จนหลุด 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และลงไปลึกถึง 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ฉุดราคาคริปโทฯทั้งหมดทุกสกุลลงทันที

แน่นอนว่า LUNA ก็ไม่มีข้อยกเว้น และด้วยกลไกที่ออกแบบไว้ เมื่อ LUNA มีมูลค่าลดลง หมายความว่าการสร้าง UST ต้องใช้ LUNA มากขึ้น ระบบจะทำการสร้าง LUNA ออกมามากขึ้น ซึ่งตามกลไกก็ดูปกติ แต่ในช่วงที่ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ย และตลาดคริปโตดิ่งลงนั้นมีการเทขาย UST จำนวนมากทำให้ราคา UST หลุดจาก 1 ดอลลาร์สหรัฐ และกดดันให้มีการสร้าง LUNA เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามการตกต่ำของราคา Bitcoin และเหรียญอื่นๆ

ทำให้ได้เห็น UST หลุด Peg (ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมีการคาดคะเนว่าเกิดจากการ “โจมตี” ด้วยการ “Short Sell” เหรียญ UST จำนวนมาก

วันที่ 10 พ.ค. 2565 มูลค่า UST หลุดลงมาถึง 0.61 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นมีการพยุงราคากลับขึ้นมาที่ 0.9 ดอลล่าสหรัฐ ต่อมาในวันที่ 11 พ.ค. 2565 UST หลุดลงไปถึง 0.25 ดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีการต่อสู้กลับมายืนที่ 0.7 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็โดนดึงกลับลงมาถึง 99% ที่ 0.05 ดอลลาร์สหรัฐ ในเช้าวันที่ 13 พ.ค. 2565 ในช่วงที่มีสู้กลับพยุงค่าเงิน ยังมี Panic sell เป็นลูกโซ่ตามมาจากชุมชนคริปโตรายเล็กๆ

ขณะเดียวกันมีการโอน Bitcoins จากบัญชีกองทุน LFG ของ Terra กว่า 40,000 Bitcoin ออกมาเทขายเพื่อแลกซื้อ UST กลับไปพยุงราคา UST ให้กลับมาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคา Bitcoin ร่วงหลุดลงมาต่ำกว่า 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซ้ำเติมตลาดคริปโตโดยรวม

จากรุ่งสู่ร่วงเขย่าตลาด

การถล่มของตลาดคริปโตในช่วงสั้นๆ ทำให้มูลค่าของ LUNA และ UST ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมูลค่าลดเร็วก็มีการสร้าง LUNA มากขึ้น ยิ่งทำให้มี LUNA ในระบบมากขึ้นจากเดิม 300ล้าน LUNA เป็น 40,000 ล้านLUNA นั่นยิ่งทำให้มูลค่าลดลงตามกลไกอุปสงค์อุปทาน

ท้ายที่สุดแล้ว ชุมชนคริปโตมองว่าการเทขายรอบใหญ่ของ Bitcoin เป็นการต่อสู้เพื่อ Peg ค่า UST อย่างบ้าคลั่งของ Do Kwon ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดประกอบกับความเชื่อถือในระบบอัลกอริทึ่ม LUNA โดนทำลาย จึงมีการเทขาย และรุม Short Sell อย่างต่อเนื่อง

กระดานเทรดจำนวนมากประกาศถอน LUNA ออกจากตลาด หรือไม่ก็ปิดการโอนเข้า ทำให้เช้าวันที่ 13 พ.ค.2565 โปรเจ็ค Terra LUNA ซึ่งเคยมีมูลค่าติดท็อปเทนราคาร่วงลงกว่า 99% จนมีการปิดระบบ Terra

หลังจาก Terra ประกาศปิดเครือข่ายบล็อกเชน ด้วยมูลค่าเกือบศูนย์ ตลาดคริปโตก็เริ่มเชิดหัวขึ้นอีกครั้ง โดยราคา Bitcoin กลับขึ้นมายืนเหนือ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กรณีของ Terra Luna เป็นโทเคนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากในวงการคริปโตทั่วโลก ตั้งแต่การเกิดขึ้นอย่างแข็งแก่รง และเติบโตก้าวกระโดดจนถึงจุดล่มสลายอย่างรวดเร็ว