หุ้นไทยแกว่งตัว 1,620-1,640 จุด รอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

หุ้นไทย

โบรกเกอร์ “ฟิลลิป” คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัว 1,620-1,640 จุด รอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้ วานนี้ประชุม ECB ตามคาดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% บอนด์ยีลด์ปิดเหนือ 3% แนะลงทุนธีม ‘โรงกลั่น-บาทอ่อนค่า-ธนาคาร’

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า ดัชนี SET Index ภาคเช้านี้คาดแกว่งตัวลงในกรอบระหว่าง 1,620-1,640 จุด ท่ามกลางแรงกดดันจาก Sentiment เชิงลบจากตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นสหรัฐวานนี้ที่ปรับตัวลงราว 1.5-2.0% จากประเด็นความกังวลเงินเฟ้อจะส่งผลให้ธนาคารกลางต่างเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยวานนี้ในการประชุม ECB มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. 65 ขณะที่ US Bond Yield อายุ 10 ปี ปิดเหนือระดับ 3% ต่อเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยเกิด Inverted Gap ที่กว้างขึ้นระหว่าง US Bond Yield อายุ 5 ปี และ 10 ปี

               

รวมถึงดัชนี VIX Index ที่ปิดปรับตัวขึ้นแตะ 26.09 จุด ทำจุดสูงสุดในรอบเดือนนี้ โดยตลาดจะยังคงรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 65 ของสหรัฐที่จะประกาศคืนวันนี้ เพื่อประเมินแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของ FED ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. 65

เบื้องต้นตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. จะขยายตัว 8.3% YoY เท่ากับเดือน เม.ย. หลังยังได้รับผลกระทบจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวระดับสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมน้ำมันและอาหารสด) เดือน พ.ค. 65 คาดขยายตัว 5.9% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 6.2% YoY

ทั้งนี้ทางฝ่ายประเมินว่าไม่ว่าตัวเลขจะออกมาเป็นเท่าไหร่ มุมมอง Hawkish ของ FED ก็ยังมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลทำให้ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ยังคงอิงทางแข็งค่าต่อ

กลยุทธ์การลงทุน ด้วยภาพตลาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แนะนำเลือกลงทุนภายใต้ธีม 1.หุ้นกลุ่มพลังงานและโรงกลั่น ขานรับราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูง เช่น PTTEP, SPRC และ BCP 2.หุ้นกลุ่มได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าหลัง Dollar Index ยังเดินหน้าแข็งค่ายืนเหนือ 103 จุด เช่น SAPPE, CPF, TU และ TFG 3.หุ้นกลุ่มธนาคารตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเข้าสู่ช่วงขาขึ้น เช่น BBL และ KBANK

สำหรับรายละเอียดผลประชุม ECB วานนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาด สำหรับการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในรอบการประชุมหน้า (21 ก.ค. 65) ขณะที่การประชุมรอบที่เหลืออีกราว 6 ครั้งในปีนี้ แม้คาดจะยังคงมุมมอง Hawkish หากแต่ขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจในเวลานั้น ๆ และยังคงยึดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ ECB ยังประกาศยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการ APP โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป หากแต่จะยังไม่ดึงสภาพคล่องออกจากระบบ รวมถึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 65 เป็น 6.8% และปี 66 ที่ระดับ 3.5% จากเดิม 5.1% และ 2.1% (ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นการสะท้อนการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และปรับลด GDP ปี 65-66 ลงเหลือ 2.8% และ 2.1% จากเดิม 3.7% และ 2.8% (ตามลำดับ)