สัญญาณแรง “ขึ้นดอกเบี้ย” ส.ค.นี้ แตะเบรก “เงินเฟ้อ” พุ่งไม่หยุด

ขึ้นดอกเบี้ย
Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 8 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาจะเป็นการ “คงดอกเบี้ย” ตามคาดการณ์ด้วยมติเสียงแตกที่ออกมา 4 ต่อ 3 เสียง สะท้อนถึงมุมมองของคณะกรรมการที่เปลี่ยนไป และส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มาเร็วขึ้น

เงินเฟ้อลากยาวพุ่งต่อ

ดร.ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยอีก 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จากการเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจน และความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่ชัดเจนมากขึ้น

ด้วยอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.อยู่ที่ 7.1% ออกมาสูงกว่าคาด และจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มาก ทำให้ กนง.ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จาก 4.9% เป็น 6.2% และปี 2566 จาก 1.7% เป็น 2.5% และ กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้

               

“เงินเฟ้อปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุด คาดว่าจุดพีกจะอยู่ที่ไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ตัวเลขคงไม่ถึง 2 หลัก และหลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาจากอุปทานและราคาพลังงาน ซึ่งสูงกว่าคาดและมีแนวโน้มทอดยาว จึงเป็นความเสี่ยงด้านสูงที่ชัดขึ้น โดยช่วงหลังการปรับเพิ่มขึ้นราคาสินค้าขยายวงมากขึ้น

ถอนคันเร่งนโยบายการเงิน

พร้อมกันนี้ กนง.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 เพิ่มเป็น 3.3% จาก 3.2% และในปี 2566 ขยายตัว 4.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.4% จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/65 ออกมาค่อนข้างดีสะท้อนเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจปีนี้ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเร็วขึ้น

คาดว่าปลายปีจะอยู่ที่ 6 ล้านคน และปีหน้าจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ดร.ปิติกล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและมีความชัดเจนขึ้น สะท้อนว่านโยบายการเงินที่ดำเนินในช่วงโควิด-19 ที่ผ่อนคลายจะต้องทยอยลงและเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติได้แล้ว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้ กนง.ถอนคันเร่ง จะดูเงินเฟ้อในระยะปานกลาง เพราะหากนโยบายการเงินอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จะเป็นการเสริมไฟเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะกระทบต่อประชาชนผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน จึงจำเป็นต้องถอนคันเร่งนโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืน

“ขึ้นดอกเบี้ย” ชั่งน้ำหนัก 3 มิติ

การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า โดยมีการชั่งน้ำหนัก 3 มิติ คือ 1.การชั่งน้ำหนักระหว่างการสนับสนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวและการดูแลเงินเฟ้อ ที่ผ่านมา กนง.ให้ความสำคัญในการดูแลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่เมื่อภาพการฟื้นตัวเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ก็อาจเห็นการผ่องถ่ายการดำเนินนโยบายการเงิน คงเป็นการถอนคันเร่งเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงในอนาคต และมาเสริมไฟให้กับเงินเฟ้อที่อาจจะมีในอนาคต

2.ดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่อีกมุมก็ไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เพราะหากขึ้นช้าไปอาจไปเสริมไฟให้เงินเฟ้อปีหน้า ทำให้อาจต้องใช้ยาแรงในปีหน้าซึ่งอาจมีผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยที่ไม่จำเป็น

3.ผลการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่มีต่อผู้ประกอบการ ประชาชน อาจเป็นการเพิ่มภาระด้านการเงินให้กับบางกลุ่มโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม หากเทียบภาระที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนระหว่างเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย พบว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระให้มากกว่าและค่อนข้างมาก

ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 1-3 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก กนง.ส่งสัญญาณถอนคันเร่งนโยบายการเงิน สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ออกรายงานคาดการณ์ว่า กนง.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่ 1-3 ครั้ง (กราฟิกประกอบ)

เช่นกรณีศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 2565 ซึ่งได้แก่ เดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้อาจลดลง ขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เช่น หากสงครามยูเครนดีขึ้นอย่างมีนัยจนนำไปสู่การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

KKP ฟันธงขึ้นดอกเบี้ยรอบหน้า

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สัญญาณของ กนง.แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อมีมากกว่าที่คาด ทำให้โอกาสที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้ามีค่อนข้างมาก เพราะ ธปท.มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นไปเป็น 6.2% สะท้อนว่าครึ่งปีหลังจะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม รวมถึงราคาอาหารต่าง ๆ ก็ต้องปรับขึ้นอีก

ขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยกันหมด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นไปถึงใกล้ ๆ 3% ในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อ ธปท.มากขึ้นเรื่อย ๆ

“มีโอกาสสูงที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า 0.25% และมีโอกาสที่จะทยอยปรับขึ้นรวม 1-2 ครั้ง เพราะการประชุม กนง.ปีนี้ยังเหลืออีก 3 ครั้ง ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าช้าไปหรือยัง เพราะความยากก็คือ เงินเฟ้อไม่ได้มาจากฝั่งดีมานด์ แต่มาจากฝั่งซัพพลาย ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะทำให้เงินเฟ้อที่เกิดจากการคาดการณ์มีมากขึ้น”

ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้คงต้องไปพิจารณาว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวบริการจะยิ่งลำบาก ต้องดูว่าจะมีเครื่องมือไปช่วยกลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาสอย่างไร เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

ตอนนี้ ธปท.อาจจะยังไม่อยากขึ้นดอกเบี้ยทันที ก็เพราะกังวลปัญหาหนี้เอ็นพีแอล และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า ไทยมีความท้าทายที่เจอปัญหาเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดี แต่จะเรียกว่า stagflation หรือไม่ก็ขึ้นกับการประเมินของแต่ละคน ซึ่งตนมองว่าภาวะค่าครองชีพขึ้นเร็วกว่ารายได้มาก ๆ ก็ถือว่าเป็น stagflation แล้ว และตอนนี้เมืองไทยกำลังเกิดอยู่เลย

“stagflation มีผลกระทบ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.ผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนไม่ได้ เพราะผู้บริโภคยังไม่พร้อมจะจ่ายเพิ่ม และ 2.ผู้กำหนดนโยบาย คือ ธปท.ไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย เพราะถ้าเป็นปัญหาเงินเฟ้อเหมือนช่วงปกติ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว”

ปลายปีดอกเบี้ยแตะ 1.25%

ด้าน นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีกล่าวว่า กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อที่พุ่งแรง ซึ่งประเมินว่าในการประชุม กนง.ครั้งหน้าวันที่ 10 ส.ค. 2565 จะปรับขึ้น 0.25% แบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้ปลายปีอาจได้เห็นดอกเบี้ยอยู่ที่ 1-1.25%

ประเด็นที่ กนง.น่าจะถ่วงน้ำหนักมากก็คือ ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ไหมกับผลข้างเคียงต่อครัวเรือนที่มีหนี้สูง และเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบาง ในแง่ผลกระทบแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.นักลงทุน 2.ธุรกิจ และ 3.รายย่อย/ครัวเรือน

สำหรับกลุ่มนักลงทุนมองว่า กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วตั้งแต่ต้นปี เพราะดอกเบี้ยตลาดปรับขึ้นไปแล้ว ส่วนภาคธุรกิจต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR กับ MOR ของธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็คงปรับขึ้น ก็จะทำให้เงินทุนหมุนเวียนประเภทวงเงินกู้ O/D หรือวงเงินระยะสั้นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเจอภาระดอกเบี้ยมากขึ้นแน่นอน

ซึ่งกลุ่มที่ใช้วงเงินประเภทนี้มากก็คือ เอสเอ็มอี เพราะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มกู้ระยะยาวมากกว่า รวมทั้งกลุ่มครัวเรือน เงินกู้ประเภทสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์จะได้รับผลกระทบมีภาระการผ่อนสูงขึ้น