ออมสิน ลั่น ตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด แม้ กนง.ส่งสัญญาณขาขึ้น

ธนาคารออมสิน ลั่นตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรือขึ้นเป็นธนาคารสุดท้ายของระบบ แม้ กนง.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น เชื่อผลกระทบต่อภาระต้นทุนดอกเบี้ยน้อย เหตุมีสัดส่วนเงินฝากกว่า 50% เป็นสลากออมสินอายุ 2-3 ปี เมื่อเทียบระบบมีสัดส่วน 50-70% มองภาระผู้กู้รายใหม่อาจเพิ่มขึ้น แต่ไม่กระทบรายเดิม

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี มองว่า ในช่วงที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จะเห็นว่าธนาคารที่สามารถล็อกต้นทุนดอกเบี้ยระยะยาวได้จะได้ประโยชน์

ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินสัดส่วนประมาณ 50% จะเป็นเงินฝากระยะยาวหรือสลากออมสินอายุ 2-3 ปี ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีสัดส่วนประมาณ 50-70% จะเป็นเงินฝากระยะสั้นหรือเงินฝากออมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม กนง.นั้น แม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ธนาคารออมสินจะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารสุดท้ายในระบบที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุด หรือหากมีการปรับขึ้นก็จะปรับดอกเบี้ยน้อยที่สุด เนื่องจากธนาคารพยายามจะช่วยลูกค้าและประชาชนในการรับภาระต้นทุนที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ หาก กนง.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งกระดาน ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นลูกค้ารายใหม่ที่จะขอสินเชื่อ ขณะที่ลูกค้ารายเดิม เช่น ลูกค้าที่อยู่อาศัย ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ยู่แล้ว และจะพยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

“เราจะตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด เราอาจจะเป็นธนาคารที่ขึ้นดอกเบี้ยช้าที่สุดของระบบก็ได้ อย่างไรก็ดี หากดูผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยขึ้นในส่วนของภาระหนี้ มองว่า ลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบต่อภาระการผ่อนชำระที่มากขึ้น

โดยการชำระหนี้ต่องวดยังคงเท่าเดิม แต่ระยะเวลาหรือเทอมอาจจะยืดออกไป เนื่องจากค่าผ่อนชำระอาจจะไปตัดดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น แต่ค่างวดจ่ายเท่าเดิม ส่วนภาพรวมดอกเบี้ยขาขึ้นเชื่อว่าโดยปกติระบบแบงก์จะกำไรมากขึ้นอยู่แล้ว ส่วนของเรากำไรที่เพิ่มก็นำไปช่วยเหลือลูกค้าต่อ และรายได้ส่วนหนึ่งก็ส่งให้รัฐ”