ฟิทช์ฯ มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.2% จับตา “เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจโลกชะลอ”

เงินเฟ้อ
ภาพจาก pixabay

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่แข็งแรงมากขึ้น คาดจีดีพีปีนี้โต 3.2% ปีหน้า 1.5% จับตาแรงกดดัน “เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง” เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 Mr.Jeremy Zook ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวในงานสัมมนาของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งจัดขึ้นผ่าน Webinar ในหัวข้อ “2022 Thailand Sovereign and Bank Outlook” ว่า

จากการประมาณการคาดว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) จะมีอัตราการเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงและการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการประมาณการของฟิทช์ อันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

สะท้อนถึงฐานะการเงินต่างประเทศของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อเนื่องและมีกรอบนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการภาวะเครดิตของโลกที่ตึงตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ Mr.Jeremy ยังได้กล่าวถึงเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศเวียดนาม (BB/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) ที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วซึ่งจะมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 6.1% ในปี 2565 และ 6.3% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ

แต่อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ประเทศลาว (CCC) ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนมาก ซึ่งส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและเป็นผลให้ค่าเงินของประเทศปรับตัวอ่อนลงอย่างมาก

นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของภาคธนาคารไทยในปี 2565 น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่โอกาสที่ระดับการฟื้นจะดีกว่าคาดการณ์นั้นมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคระบาดโควิด-19 ฟิทช์ฯคาดว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้จากการที่มาตรการผ่อนปรนจะทยอยหมดอายุลง

อย่างไรก็ตามด้วยอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในระดับที่สูง

นายพาสันติ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารเวียดนามนั้นน่าจะได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยกว่า โดยสินเชื่อยังคงมีอัตราการเติบโตที่สูง ซึ่งในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไร แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงส่งผลให้ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้นธนาคารจึงมีความเปราะบางเมื่อเกิดวิกฤต

สามารถเข้าชมบันทึกการสัมมนาครั้งนี้ได้จาก www.fitchratings.com/region/thailand