บาทอ่อน ใกล้ทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์ 5 สินค้านำเข้ากระอักราคาพุ่ง

ท่าเรือ

ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “เงินบาทอ่อนค่า” มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปัจจุบันทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าต่อไปได้อีก ซึ่งย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้นำเข้าสินค้า อย่างไรก็ดี ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมนักวิเคราะห์ (analyst meeting) ว่า เงินบาทยังอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค

ซึ่งมาจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับเร็วกว่าคาด และความกังวลที่เศรษฐกิจชะลอตัวกว่าคาดการณ์ โดย ธปท.ติดตามใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีความผันผวนผิดปกติ และพร้อมจะถอนคันเร่งนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ รวมถึงช่วยไม่ให้เงินบาทผันผวน

“ดร.ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวยอมรับว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าย่อมส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ทำให้เป็นภาระทางการคลังและภาระของภาคธุรกิจที่สูงขึ้น

“ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ กนง.จับตาใกล้ชิด แต่จากการพิจารณาในปีนี้เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคและเงินเฟ้อที่จะสูงสุด (พีก) ในไตรมาส 3 โดยมีโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงปลายปี”

ส่ออ่อนค่าแตะ 36 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ “รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงนี้ถึงไตรมาส 3 ยังคงมีความผันผวนสูง โดยมีโอกาสแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ แต่อาจจะไม่ได้ยืนอยู่นานเนื่องจากจะเห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงไปสัปดาห์ละ 5,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่า ธปท.พยายามเข้าไปดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนหรืออ่อนค่ามากจนเกินไป

“คาดว่าไตรมาส 3 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35 บาท และไตรมาส 4 จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นแถว ๆ 34.00-35.50 บาท จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 3 ค่าเงินจะผันผวนสูงเพราะเราเริ่มเห็นเงินไหลออกในไตรมาส 2 จากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร (บอนด์) ทำให้มีโอกาสเห็นเงินบาทไปที่ 36 บาท หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไป 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” นางสาวรุ่งกล่าว

Advertisment

บาทอ่อน 1% ดันสินค้าแพงขึ้น 0.6%

“พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าจะมีผลกระทบ 2 มุม คือ อัตราเงินเฟ้อ และการนำเข้า โดยจากผลการวิจัยของ ธปท.ชี้ว่า หากเงินบาทอ่อนค่า 1% จะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น 0.6% สะท้อนว่าหากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จะทำให้เงินมีค่าน้อยลง ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิม และสุดท้ายผู้ผลิตสินค้าโดยเฉพาะผู้ที่ต้องนำเข้าสินค้าเพื่อผลิต สุดท้ายแล้วจะสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ผู้บริโภคได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าผู้นำเข้าควรปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้

ผลกระทบ

Advertisment

กระทบสินค้า 5 อันดับแรกนำเข้าสูง

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าจะมีผลกระทบกับสินค้านำเข้าทุกชนิด โดยสินค้า 5 ประเภทที่ประเทศไทยมีการนำเข้าสูง ได้แก่ 1.สินค้าเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนรวมกันราว 15% โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่านำเข้ารวมกันกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ จากปีที่แล้วทั้งปีนำเข้ารวมกันกว่า 3.9 หมื่นล้านเหรียญ

2.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัดส่วน 7.8% 3.เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 7.7% 4.สินค้าวัตถุดิบ ที่นำเข้ามาก ๆ คือ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 7.5% 5.เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัดส่วน 6.1%

“สินค้าบางอย่างถ้าเป็นวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตแล้วส่งออกไปได้ก็จะเป็น natural hedge (ป้องกันความเสี่ยงตามธรรมชาติ) เช่น อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มนี้นำเข้ามาเพื่อมาประกอบแล้วส่งต่อออกไปก็จะส่งผ่านต้นทุนได้ แต่สินค้าที่เจอผลกระทบเต็ม ๆ คือ สินค้าที่นำเข้ามาใช้เพื่อบริโภคพวกนี้โดนเต็ม ๆ แน่นอน รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ฉะนั้นมีผลกระทบแน่นอน”

ขึ้นดอกเบี้ยช้ายิ่งกดดันบาทอ่อน-เงินเฟ้อ

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่มองไปข้างหน้าค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีมากขึ้นแล้วไทยยังไม่เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้ไทยเป็นประเทศท้าย ๆ ของภูมิภาคที่เงินเฟ้อสูงแต่ยังไม่ได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ย

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า ปกติเวลาเงินบาทอ่อนค่าสินค้านำเข้าทุกอย่างก็จะแพงขึ้น โดยปัจจุบันที่มีปัญหาเงินเฟ้อหลายเรื่องมาจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น เช่น ราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน
ราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงราคาอาหาร ราคาปุ๋ย เป็นต้น

“จริง ๆ บาทอ่อนสินค้านำเข้าก็กระทบหมด แต่สินค้าที่เรานำเข้ามาก ๆ จะเป็นพวกพลังงานกับวัตถุดิบทั้งหลาย อย่างเช่น ปุ๋ย ที่เรานำเข้าตั้ง 80-90% และเอาเข้าจริง ๆ สินค้าบางอย่างที่แม้เราไม่ได้นำเข้า แต่เป็นสินค้าที่เราค้าขาย ส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งถ้าบาทอ่อนก็จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่าง ข้าว เป็นต้น”

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันแพงก็ยิ่งทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และยิ่งกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าหนักเข้าไปอีก ที่สำคัญเงินบาทหากอ่อนลงไปมาก ๆ ก็จะเพิ่มแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ และจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของ ธปท. เพราะปัญหาที่กำลังเผชิญตอนนี้มาจากการที่เฟดกำลังขึ้นดอกเบี้ยแบบรุนแรงและรวดเร็วมาก โดยสิ้นปีอาจจะเห็นดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นไปใกล้ ๆ 3% ซึ่งหากไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะมีส่วนต่างกันมากขึ้น

“ยิ่งดอกเบี้ยต่างกันมากก็จะยิ่งมีแรงกดดัน เพิ่มความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกจากประเทศ เพราะถ้าดอกเบี้ยต่างกันมากแล้วเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม ก็จะมีแรงกดดันจากข้อจำกัดทางนโยบาย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก รวมถึงทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงไปด้วยเพราะ ธปท.ต้องเข้าไปดูแล” ดร.พิพัฒน์ระบุ

ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นลดแรงกดดันค่าเงิน

อย่างไรก็ดี “ดร.พิพัฒน์” กล่าวด้วยว่า เนื่องจากเครื่องมือในการบริหารค่าเงินมีอยู่ไม่มาก อาทิ อัตราดอกเบี้ย การบริหารเงินทุนสำรอง เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องทางด้านพื้นฐาน เช่น นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแล้วแค่ไหน ช่วงที่เหลือของปีจึงต้องลุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นด้วย

“ผมคิดว่าถ้านักท่องเที่ยวค่อย ๆ ทยอยกลับมา อาจจะยังพอหนุนได้ให้บาทอ่อนสอดคล้องไปกับภูมิภาค คือ วันนี้ปัญหาที่เกิดไม่ใช่ปัญหาของไทย แต่มาจากดอลลาร์แข็งเพราะเขาขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ดังนั้น ถ้าเราจะสวนทางคนอื่นหมดเลยเป็นเรื่องยากมาก ถ้าเทรนด์ยังเป็นดอลลาร์แข็งอยู่ขอแค่ไม่ให้อ่อนเร็วกว่าชาวบ้านก็พอแล้ว ซึ่งวันนี้ที่เรายังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ความหวัง คือ อยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดได้บ้าง” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้กำกับนโยบายคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเพื่อดูแลไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องแบกภาระมากเกินไป