สาระ ล่ำซำ หวั่นเอฟเฟ็กต์ “โควิด-สงคราม” ป่วนธุรกิจประกันครึ่งปีหลัง

สาระ ล่ำซำ
สาระ ล่ำซำ

“สาระ ล่ำซำ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผย 5 เดือนแรก เบี้ยรวมธุรกิจติดลบ 1% เหตุมีกรมธรรม์ครบกำหนดเพียบ ยันภาวะเศรษฐกิจยังไม่ส่งผลกระทบลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ หวั่นความเสี่ยงครึ่งปีหลัง “เอฟเฟ็กต์โควิด BA.4 และ BA.5-สงครามรัสเซียยูเครนป่วนการลงทุน” คาดการณ์เบี้ยรวมปีนี้โตระหว่าง 0-2% หวังตลาดประกันสุขภาพโตดับเบิลดิจิตล้อสังคมผู้สูงวัย คาดสิ้นปีโต 9% ด้าน “เมืองไทยประกันชีวิต” ประกาศกลยุทธ์ Health 5.0

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.65) เบี้ยติดลบอยู่ประมาณกว่า 1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

เหตุผลเพราะว่ามีกรมธรรม์ครบกำหนดค่อนข้างมาก ทำให้เบี้ยประกันในระบบหายไปพอสมควร แต่หากประเมินเบี้ยรับรายใหม่ที่เข้ามา แต่ละบริษัทพยายามปรับมาเน้นขายสินค้าความคุ้มครองเป็นหลัก ทั้งประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ซึ่งขายได้จำนวนเยอะจริง แต่ขนาดเบี้ยค่อนข้างเล็กหลายเท่าเมื่อเทียบกับประกันสะสมทรัพย์ที่เคยขายกันในอดีต

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในขณะนี้นั้น เบื้องต้นจากที่สมาคมฯได้มอนิเตอร์ตัวเลขเบี้ยรับรวมทั้งระบบ ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อประกัน หรือมีสัญญาณที่ลูกค้าขอยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด โดยทางสมาคมฯ คาดการณ์เบี้ยรับรวมทั้งระบบปีนี้จะโตระหว่าง 0-2%

สำหรับเมืองไทยประกันชีวิต เบี้ยรับรายใหม่ยังมีอัตราการโตที่ดี แต่เบี้ยต่ออายุคล้ายกับเทรนด์ในอุตสาหกรรมที่มีกรมธรรม์ครบกำหนดทำให้เบี้ยประกันหายไป ส่งผลให้เบี้ยรับรวมของบริษัทยังเป็นภาพติดลบอยู่ จึงคาดว่าเบี้ยรับรวมของบริษัทช่วงสิ้นปีน่าจะโตใกล้เคียงปีก่อน

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นายสาระกล่าวถึงความเสี่ยงที่ค่อนข้างกังวลว่าจะกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตมากสุดคือ กลัวเอฟเฟ็กต์จากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่โดนผลพวงจากสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต

โดยในส่วนภาพตลาดประกันสุขภาพในประเทศไทยรวมธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเติบโตดับเบิลดิจิต โดยเฉพาะช่วงปีที่มีการระบาดโควิด หากแยกการโตเฉพาะธุรกิจประกันชีวิต มีอัตราการขยายตัวอยู่กว่า 8-9% เหตุผลเพราะพอร์ตประกันสุขภาพของธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างเป็นพอร์ตใหญ่ เบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบกว่า 1 แสนล้านบาท สัดส่วน 80-90% มาจากบริษัทประกันชีวิต

โดยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังเชื่อว่ามีโอกาสจะเห็นตลาดประกันสุขภาพมีอัตราการเติบโตได้ต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีน่าจะโตได้ราว 9% หรืออาจจะเห็นการโตระดับดับเบิลดิจิตได้ ซึ่งจะล้อไปกับสังคมผู้สูงวัยด้วย

โดยบริษัทประกันชีวิตจะพยายามขยายตลาดลูกค้าในทุกเซ็กเม้นท์ ตั้งแต่คนตัวเล็กไปจนถึงคนตัวใหญ่ (ระดับล่างไปจนระดับบน) เพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองประกันสุขภาพได้ อาทิ ความคุ้มครองแบบเหมาจ่าย ความคุ้มครองโรคร้ายแรง หรือการชดเชยรายได้ ขณะเดียวกันมีการพัฒนาแบบประกันที่สามารถให้ลูกค้าเก็บเงินออมในช่วงทำงานและไปเริ่มคุ้มครองในช่วงที่เกษียณแล้วก็มี ซึ่งบางแบบประกันของบริษัทที่ออกไปนั้น ให้ความคุ้มครองยาวจนถึงอายุ 99 ปี แต่ซื้อประกันได้จนถึงอายุ 90 ปี

และในอนาคตคงเห็นอีกเยอะมาก เช่น ล้อไปกับศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยและดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) ที่จะตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้

สาระกล่าวอีกว่า ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวกลยุทธ์ “Health 5.0” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ นวัตกรรมความคุ้มครองด้านสุขภาพ ที่ช่วยขจัดปัญหาที่เป็น Pain Point ของลูกค้า ที่แม้ทุกคนจะมีความแตกต่าง แต่มีความต้องการด้านความคุ้มครองสุขภาพที่เหมือนกัน ด้วยการออกแบบแบบประกันที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ และมีความเฉพาะตัว (Personalization) ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย (Generation) ทุกบทบาทของชีวิตที่ต้องรับผิดชอบ

ไม่ว่าจะเป็นคนโสด คนมีครอบครัว วัยทำงาน วัยเกษียณ เจ้าของกิจการ พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ แม่บ้าน คนขับรถ พนักงานรักษาความปลอดภัย จะเป็นคนตัวเล็ก หรือตัวใหญ่ ไลฟ์สไตล์แบบไหน ก็สามารถเข้าถึงความคุ้มครองจากบริษัทได้

“ภายใต้โลกใหม่เราใช้ดาต้าและเทคโนโลยให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยทำในเรื่องเกี่ยวกับอีโคซิสเต็มในการดูแลชีวิตของคน และมีโปรดักต์สุขภาพเหมาจ่าย (super health+) ที่ครอบคลุม 6 แบบคือ 1.เฮ้าส์คีฟปิ้ง (แม่บ้าน, คนทำงานบ้าน, คนขับรถ) 2.D Kid Plus (ความคุ้มครอง 1-5 ล้านบาทต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง) 3.D Health Plus (ความคุ้มครอง 1-5 ล้านบาทต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง)

4.สุขภาพแบบชดเชยรายวัน 5.เหมาจ่าย Extra ความคุ้มครอง 2-5 แสนบาทต่อการรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง และ 6.Elite Health Plus คุ้มครอง 20-100 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่ โรคระบาด โรคร้ายแรง โรคทั่วไป และอุบัติเหตุ เพิ่มแพ็กตรวจสุขภาพ ทำฟัน ดูแลสายตา คุ้มครองคลอดบุตร รักษาผู้ป่วยนอก(OPD) และปรับเปลี่ยนแผนความคุ้มครองได้” นายสาระกล่าว