ตลาดทุนผันผวนถ่วงกำไรแบงก์ Q2 วิจัยกสิกรฯ คาดครึ่งปีหลังสินเชื่อพุ่ง

ธนาคาร แบงก์ เอทีเอ็ม ATM
ภาพ ประชาชาติธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกำไรแบงก์ไทย Q2 ฟื้นอ่อนแอ-ตลาดทุนผันผวนกดดันรายได้ค่าฟี ประเมินกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.61 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลทรงตัว มองครึ่งปีหลังความต้องการสินเชื่อพุ่ง ปรับประมาณการสินเชื่อปีนี้โต 5% จากเดิม 4.5% ทั้งปีคาดกำไรจากการดำเนินงานอยู่ระดับ 4 แสนล้านบาท ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด

วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2565 ยังคงอ่อนแอ โดยแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะยังคงเติบโตได้ตามสินเชื่อ แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุน

ซึ่งทำให้ประเมินว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในไตรมาส 2/2565 จะอยู่ที่ประมาณ 4.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 19.6% เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในไตรมาสที่ 2/2564 ซึ่งมีการบันทึกรายการพิเศษกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี คาดว่า สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาส 2/2565 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 2.90-2.93% ต่อสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตามสัญญาณการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกของระบบธนาคารในภาพรวม

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2565 คาดว่า แรงหนุนจากสัญญาณเศรษฐกิจจะช่วยหนุนให้มีการเบิกใช้สินเชื่อต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง และน่าจะทำให้แรงกดดันต่อรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในส่วนอื่น ๆ คลายตัวลงบางส่วน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับตัวเลขคาดการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 มาที่ 5.0% (กรอบคาดการณ์ใหม่ที่ 4.0-5.5%) จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ 4.5% เนื่องจากการเบิกใช้สินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องของภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะมีแนวโน้มความต้องการสินเชื่อต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ดี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังไม่สะท้อนอานิสงส์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ เนื่องจากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และปัญหาของลูกหนี้อีกหลายกลุ่มที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและยังไม่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ดังนั้น คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพียงบางผลิตภัณฑ์ก่อนในระยะแรก สำหรับภาพรวมของรายได้จากธุรกิจหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นั้น ด้วยข้อจำกัดในการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ยังต้องใช้เวลา

ทำให้คาดว่าภาพรวมของกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนการกันสำรองฯ และภาษีเงินได้) ในปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 4.01-4.03 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่กลับไปสู่ระดับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้จะเข้าใกล้มากขึ้นก็ตาม