KKP เปิดบริการ Dime ดึงลูกค้ารายเล็กลงทุน-ฝากเงิน ดีเดย์ต้นเดือนหน้า

KKP

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP  จ่อเปิดตัว “KKP Dime” บริการ “เงินฝาก-ลงทุนหุ้นต่างประเทศ” เจาะลูกค้ารายเล็กที่ บล.เข้าไม่ถึง ต้น ก.ย.นี้ พร้อมปรับเป้าสินเชื่อทั้งปีพุ่ง 16% หลังครึ่งปีแรกโต 10% ดันรายได้ดอกเบี้ยขยับ 15.1% หลังปรับกลยุทธ์ “Smart Growth” คาดสินเชื่อรถยนต์-บ้านโตต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกโชว์กำไร 4.08 พันล้านบาท รับค่าใช้จ่ายลด ตั้งสำรองลดเกือบ 30%

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มช่องทางบริการเพื่อเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้มากขึ้นผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ

ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดด้านขนาดหรือเครือข่ายและทำให้ธนาคารแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม เช่น ธุรกิจ KKP Edge ที่นำเสนอบริการ Wealth Management ในแบบที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่มีการลงทุนรองรับลูกค้ารายใหญ่แล้ว

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์

ส่ง KKP Dime เจาะเงินฝาก-ลงทุนรายเล็ก

โดยล่าสุดกลุ่มธุรกิจได้ Set up ธุรกิจใหม่เป็น Virtual Bank เพื่อให้บริการด้านการลงทุนสำหรับลูกค้ารายเล็ก ผ่านการจัดตั้งบริษัท KKP Dime ที่จะเปิดให้บริการภายในปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า ซึ่งเบื้องต้นจะให้บริการเงินฝากและการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยลูกค้ารายย่อยสามารถลงทุนได้ เช่น 100 บาท ก็สามารถซื้อหรือลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ และต่อไปในอนาคตอาจจะขยายบริการเพิ่มเติม เช่น ประกัน หรือ การปล่อยสินเชื่อ (Lending)

ทั้งนี้ บริการ KKP Dime จะเป็นเหมือนธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยจากเดิมการบริการจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการให้บริการ แต่ KKP Dime จะไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีหน้าร้าน แต่จะมีพนักงานที่ดูแลทางด้านเทคโนโลยีหลังบ้านเท่านั้น และการทำธุรกรรมจะทำผ่านเทคโนโลยีผ่านโมบาย และเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร (บล.) ให้บริการไม่ได้

อย่างไรก็ดี เบื้องต้น KKP Dime จะใช้ใบอนุญาต (License) ของธนาคารเกียรตินาคินในส่วนบริการของเงินฝาก ส่วนการลงทุนหุ้นต่างประเทศจะใช้ไลเซนส์ของ บล.ก่อน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้เปิดให้ขอไลเซนส์ Virtual Bank

“ทาร์เก็ตของธุรกิจ KKP Dime จะเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ หากเราเริ่มต้นได้ดีจะเหมือนน้ำซึมบ่อทราย อาจจะไม่ได้เกิดอิมแพ็กต์ในช่วง 1-2 ปีแรก แต่เราอาจจะเห็นจำนวน Transaction ทางด้านเงินฝากและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราสามารถบริการแบบเทเลเมดบริการลูกค้ารายย่อยลงมา หลังจากเราให้บริการลูกค้ารายใหญ่กลุ่ม High Network หรือกลุ่มมั่งคั่งไปแล้ว”

ปรับเป้าสินเชื่อทั้งปีโต 16%

นายอภินันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากธุรกิจใหม่ กลุ่มธุรกิจการเงินยังคงไม่ละเลยการลงทุนในด้านระบบสำหรับธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อที่เชื่อว่ายังมีศักยภาพสำหรับการเติบโตและเป็นองค์ประกอบสำคัญในธุรกิจ โดยจะเห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เดิมตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 5-6% แต่สามารถทำได้สูงกว่าอยู่ที่ 10% ส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงคาดว่าสินเชื่อทั้งปีน่าจะสามารถขยายตัวได้ 16% ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.1% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยความเสี่ยงจากความกังวลจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ผนวกกับภาวะปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น จากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว กลุ่มธุรกิจฯจึงเตรียมพร้อมสำหรับช่วยเหลือลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยั่งยืน มากกว่ามาตรการเฉพาะหน้า

เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้โครงการช่วยเหลือสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีหลักประกันคุ้มทุน และคาดว่าการเปิดประเทศจะช่วยให้กลุ่มกลับมาดีขึ้น

“ธุรกิจหลักการปล่อยสินเชื่อเดิมที่เราคิดว่าทำได้ 6% แต่ทำได้ 10% โดยเรายังคงไม่แตะเบรก แต่ผ่อนคันเร่ง ซึ่งทั้งปีน่าจะโตได้ 16% ส่วนรายได้ทางด้านรายใหญ่ เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจลดลง แต่เรื่องเทรดดิ้งเติบโตเยอะ แต่โดยธรรมชาติตลาดในช่วงนี้ลูกค้าบุคคลหรือ Wealth จะโตน้อยลง ดังนั้น โดยทิศทางรายได้ดอกเบี้ยน่าจะเพิ่มขึ้น และรักษารายได้ตลาดทุน แต่ตั้งใจจะเติบโตรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น”

เจาะสินเชื่อ New S-Curve

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อรายย่อยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การปรับกลยุทธ์ “Smart Growth” โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่มากผ่านการร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) ที่เติบโตไปด้วยกัน รวมถึงมีการลงทุนในระบบ ทั้งการติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งการลงทุนในระบบส่งผลให้ต้นทุนลดลง และส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปยังลูกค้าที่จะได้รับราคาลดลง พร้อมดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

ฟิลิป เชียง ชอง แทน
ฟิลิป เชียง ชอง แทน

โดยสินเชื่อของธนาคารครึ่งปีแรก 2565 มีรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยถึง 69% โดยหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่า 11% หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้น 19% โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ธนาคายังคงต่อยอดจากธุรกิจที่มีความชำนาญ ไม่ว่าการปรับปรุงระบบและกระบวนการภายในเพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้นผ่านแอป KKP Mobile การเดินหน้าผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสินเชื่อ “รถเรียกเงิน” รวมทั้งการขยายเครือข่ายการให้บริการผ่านการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่ง

“เรามีการปรับปรุงพัฒนาสินเชื่อต่อเนื่อง และสร้างระบบใหม่เพื่อลดต้นทุน และสร้างโปรดักต์ใหม่ และโฟกัส New S-Curve ใหม่ ทั้งด้านธุรกิจ Wealth รวมถึงมุ่งเสริมสร้างความแข็งแรงทางการเงินให้กับลูกค้าผ่านการเชื่อมโยงบริการธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ค่าใช้จ่ายสำรองลด 30% ดันรายได้พุ่ง

ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 กลุ่มธุรกิจมีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 672 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับครึ่งแรกของปี 2565 ปรับลดลงตามคุณภาพของสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 169.1%

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 8,779 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 15.1% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากครึ่งปีแรก 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 16.56% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 12.99%

“ภาพรวมธุรกิจธนาคารปีนี้ตัวเลขรายได้จากสินเชื่อเติบโตต่อเนื่องและมาดี ตามแนวโน้มการขยายพอร์ตสินเชื่อที่เติบโต 10% มาจากสินเชื่อบ้านและเช่าซื้อ โดยตัวเลขค่าใช้จ่ายดีขึ้น โดยค่าใช้จ่ายสำรองส่วนเกินปรับลดลงเกือบ 30% หรือราว 1,800-1,900 ล้านบาท และรถยึดก็ดีขึ้น ทำให้รายได้กลุ่มธุรกิจเติบโตเฉลี่ยไตรมาสละ 2,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าเป้าหมายที่ให้ไว้ในปลายปีก่อน”