กอบศักดิ์ หวั่น แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน สร้างปัจจัยลบลงทุนรอบใหม่

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หวั่น แนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน สร้างปัจจัยลบลงทุนรอบใหม่ ชี้ปีหน้าเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อพยศ กินเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี การลงทุนไม่ง่ายต้องเตรียมการรับมือ

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ “จัดทัพลงทุนฝ่าวิกฤตเงินเฟ้อ” หัวข้อเรื่อง “เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้น จะอยู่รอดและเติบโตกันอย่างไร” ว่าปีนี้ลงทุนยาก แม้ว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐดูเหมือนจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มสบายใจขึ้นมาบ้าง

แต่ตลาดหุ้นกลับต้องเสียโมเมนตัมอีกครั้งจากความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน หลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางไปเยือนไต้หวัน ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้ทิศทางลงทุนแม้กระทั่งเซียนก็ต้องหลบ เพราะถ้าไม่หลบก็ถูกปราบแน่ ๆ

ส่วนในปีหน้าจะเผชิญมรสุมเศรษฐกิจโลก อากาศแปรปรวน ถ้าเป็นนักบินต้องเตือนผู้โดยสารให้รัดเข็มขัด ซึ่งจริง ๆ เราเตือนกันมาตั้ง 6 เดือนแล้ว โดยมี 7 ความท้าทาย คือ 1.วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐกับรัสเซีย และวันนี้ลุกลามไปสู่สหรัฐกับจีนซึ่งน่ากังวลใจ เพราะตอนนี้ส่งไปซ้อมรบและส่งเครื่องบินกันไปมา และจีนประกาศไม่รับอาหารจากไต้หวัน ทำให้หลายบริษัทเกิดปัญหา นั่นหมายความว่าเริ่มมีวิกฤตความขัดแย้งลุกลามเป็น 2 ที่ใหญ่ ๆ

แต่ที่น่าดีใจคือ 2.วิกฤตพลังงานเริ่มดีขึ้น 3.วิกฤตอาหารโลกเริ่มทรงตัว 4.ความปั่นป่วนในตลาดเงินโลกก็ผ่านไปมาก ส่วนที่เหลือคือ 5.ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐและในประเทศต่าง ๆ 6.โอกาสการเกิดวิกฤตประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) และ 7.ปัญหาเศรษฐกิจจีน ที่กำลังมา และบวกกับความท้าทายชุดเดิมจากการดิสรัปชั่นเศรษฐกิจเอเชีย

โดยครึ่งปีแรกนักลงทุนระดับโลกระบุว่าเป็น Investment Storm ซึ่งเป็นการผ่านมาโดยไม่เฉลียวใจว่ากำลังอยู่ในมรสุม แต่ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี ราคาบิตคอยน์ลงจาก 7 หมื่นเหรียญ เหลือ 2 หมื่นเหรียญ ราคาน้ำมันและค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวน แต่ที่สำคัญเริ่มมีกำลังใจจากเดือนก.ค. 65 ที่ผ่านมา partial recovery ปรับขึ้นมา 14% ก่อนจะเจอความกังวลจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางไปเยือนไต้หวัน เพราะสัญญาณตรงนี้เริ่มชะงักลง ความท้าทายช่วงนี้ไม่ง่าย แต่ช่วงหนีตายก็ได้ผ่านพ้นไปเยอะแล้ว

“ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านช่วงความผันผวนที่อาจลุกลามเป็นวิกฤต โดยวันวานยังหวานชื่นได้จบไปแล้วตั้งแต่เดือนพ.ย. 64 ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดเริ่มเฉลียวใจว่าเงินเฟ้อสูงกว่าคาด และสิ่งที่คาดว่าเป็นเงินเฟ้อชั่วคราวกลับกลายเป็นเงินเฟ้อพยศเอาไม่อยู่ ซึ่งช่วงเวลานี้น่าจะกินเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น การลงทุนในช่วงเวลานี้จะผิดแปลกไปจาก 2 ปีก่อนหน้า โดยผ่านมาแล้วครึ่งปียังเหลืออย่างน้อยปีครึ่งถึงสองปีครึ่ง อยู่กับการหมุนของนโยบายต่าง ๆ ว่าจะขับเคลื่อนไปอย่างไร”

ช่วงของวิกฤตรอบนี้ที่จะใช้เวลา 2-3 ปี ในช่วงแรกที่นักลงทุนหนีตายจบไปเยอะแล้ว โดยขณะที่นักลงทุนหนีตาย คาบเกี่ยวช่วงที่สองที่เฟดเพิ่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ และระหว่างที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ช่วงที่สามสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จะค่อย ๆ เกิดขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ และสุดท้ายจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริง แต่เงินเฟ้ออาจจะลงแต่ไม่ลงสุด โดยจะลงจริง ๆ ในช่วงที่สามไปแล้ว

ขณะเดียวกัน เฟดอาจยังขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เงินเฟ้อค่อย ๆ ลงมาถึงเป้าหมาย แล้ว EM Crises จะเกิดตามมา และเมื่อเฟดประเมินว่าเงินเฟ้อจบแล้วจะเข้าสู่ช่วงที่สี่ ที่เริ่มต้นเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเกิดวัฏจักรรอบใหม่ขึ้นมา แต่ระหว่างทางทั้งหมดจะมีนัยต่อการลงทุนที่ต้องพิจาณา Turning Point ช่วงต่าง ๆ ของวิกฤตให้ดี

เงินเฟ้อโลกพีกครึ่งหลังของปี

โดยวิกฤตทั้งหมดเริ่มต้นจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ โดยเฉพาะเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งสูง 9.1% ในรอบกว่า 40 ปี ชนภูเขาสองยอด คือช่วงเหตุการณ์ Oil Price Shock ในปี 1973 และในปี 1979 ที่เงินเฟ้อสหรัฐตอนนั้นขึ้นไปประมาณ 15% โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เงินเฟ้อโลกน่าจะเข้าสู่จุดพีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น เนื่องด้วยราคาน้ำมันโลกกลับไปอยู่ที่ระดับก่อนเกิดสงครามรัสเซียยูเครนแล้วซึ่งมีนัยอย่างยิ่ง

โดยราคาน้ำมันหน้าปั๊มของสหรัฐ จากระดับ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ตอนนี้ลงมาเหลือ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ถ้าประเทศไทยต้องไปดูราคาน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งเดิมอยู่ที่ราคา 52 บาท ตอนนี้ก็ลงมาเหลือ 44 บาท

ดังนั้น ถ้าน้ำมันโลกกลับมาที่ระดับ 94-100 เหรียญต่อบาร์เรล และยืนอยู่ระดับนี้ไปได้ต่อเนื่อง หมายความว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็จะลดลงมา จากเฮอร์ริเคนระดับ 5 ก็อาจจะเหลือระดับ 4 ทำให้ธนาคารกลางสามารถบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการลงทุนในพันธบัตรและทิศทางแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟดต่อไป

ขณะที่ยังได้แรงหนุนจากราคาโลหะ (metal) ที่เคยขึ้นไปสูงในช่วงสงคราม ตอนนี้ก็ปรับตัวลงมากลับไปที่ระดับราคาช่วงต้นปี 2021 ฉะนั้น ราคาเหล็กที่ก่อสร้างแพงก็ได้ปรับตัวลดลงมาก แสดงว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะปรับลดลงมาในช่วงต่อไป

และแม้กระทั่งความท้าทายต่อวิกฤตราคาอาหารโลก ที่ราคาข้าวโพดขึ้นไปสูงตอนนี้ก็ปรับตัวลงมากลับไปที่ระดับราคาช่วงต้นปีเช่นกัน แต่ราคาปุ๋ยโลกยังปรับลดลงไม่มาก ฉะนั้น โดยรวมหมวดน้ำมันและโลหะที่ปรับตัวลง ก็จะช่วยทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลกเริ่มผ่อนคลาย และทำให้มุมมองเงินเฟ้อดีขึ้น

คาดเงินเฟ้อไทย ก.ค.ขยับต่อ

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อไทยในเดือนก.ค. 65 ซึ่งจะประกาศในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค. 65) คาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวขึ้นต่อไปอีกเล็กน้อย จากระดับ 7.66% ในเดือนมิ.ย. 65 แต่ถ้าเงินเฟ้อที่มาจากน้ำมันลดลงแบบนี้ก็จะทำให้เงินเฟ้อไทยจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ 3-4% ได้ ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะรับได้ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับอเมริกาจะต่างกัน เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานไทยอยู่ประมาณแค่ 3% ส่วนอเมริกาอยู่ที่ 6% ทำให้ความเข้มงวดของนโยบายการเงินจะแตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเงินเฟ้อจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อไทยจะพีกครึ่งหลังของปีและปรับตัวลดลง

ระวังเซอร์ไพรส์ดอกเบี้ยเฟด

ส่วนทิศทางแนวโน้มดอกเบี้ยโลกและดอกเบี้ยไทย ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ตามที่ประธานเฟดกล่าวไว้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะกดเงินเฟ้อลงมาให้ได้ โดยจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ระดับ 3.4% ในช่วงปลายปีนี้ และไปอยู่ที่ 3.8% ในกลางปี 66 และค่อย ๆ ปรับลดลงมาที่ 2.5% ดังนั้น ถ้าเป็นนักลงทุนในพันธบัตรจะมีนัยมาก

โดยขณะนี้ตลาดซึมซับดอกเบี้ยเฟดที่ประมาณ 3.275% แต่ในใจเฟดมองการเร่งขึ้นดอกเบี้ยผ่านรายงาน dot plot จะไปที่ระดับ 5.25% หรือ 6.5% เป็นบรรทัดฐาน เพราะฉะนั้น ถ้านี่คือเป้าหมายเฟดตลาดจะมีเซอร์ไพรส์อีกพอสมควร และจะมีผลกระทบต่อการปรับมุมมองอีกพอสมควร ถ้าให้ประเมินคาดว่าอย่างน้อยดอกเบี้ยเฟดต้องไปที่ระดับ 4.5-5% ขึ้นไป

ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจยังเป็นการถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงต้องใช้เวลา เศรษฐกิจไม่เปลี่ยนข้ามคืน จะใช้เวลาเป็นปี จะมีไม่กี่กรณีที่ทำแบบนั้นได้นั่นคือเกิดจากโรคระบาดหรือสงคราม ที่มีผลต่อเศรษฐกิจหยุดชะงักทันที ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยเฟดยังอยู่แค่ 2% ฉะนั้น อย่าไปฟันธงว่าเฟดจะจบรอบ เพราะเฟดยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

บอนด์ยีลด์พุ่ง กระทบต้นทุนหุ้นกู้

ทั้งหมดนี้นำไปถึงผลของดอกเบี้ยโลก ซึ่งขึ้นไปพีกก่อนโควิดแล้ว โดยระยะยาวดอกเบี้ยจะขึ้นไปอีก ซึ่งจะมีนัยต่อมูลค่าพันธบัตร โดยเซอร์ไพรส์พวกนี้จะออกทุก 6-8 สัปดาห์ ตามการประชุมเฟด โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปี ก็ยังคงปรับตัวขึ้นได้อีกพอสมควร หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ย Mortgage 30 ปี ที่ปรับขึ้นมาทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐถูกเขย่ามาก

คนกังวลใจเพราะยอดขายที่อยู่อาศัยที่ปิดการขาย (Pending Home Sales) เพิ่มสูงเป็นพิเศษ และดูเหมือนฟองสบู่อสังหาฯสหรัฐกำลังจะเกิดปัญหาครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะกังวลใจ โดยผลกระทบดังกล่าวมาถึงพันธบัตรไทย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่แบงก์ชาติของไทยยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย ทั้งบอนด์ยีลด์อายุ 2 ปี และ 10 ปี และส่งผลกระทบต่อหุ้นกู้ในประเทศไทย ทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ปรับเพิ่มขึ้น

3 ประชุม กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ทุกรอบ

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือแบงก์ชาติไทยจะทำอย่างไรต่อไป โดยประเมินว่าแบงก์ชาติต้องทยอยขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป เพราะเงินเฟ้อกำลังลง ประกอบกับเงินเฟ้อพื้นฐานไม่สูงมาก น่าจะดูแลปัญหาได้ โดยคาดว่า 3 ประชุมที่เหลือของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยรอบละ 0.25% และหลังจากนั้นขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่เป้าหมายโซนดอกเบี้ย Neutral Zone ของแบงก์ชาติไทยที่ 2-3% ประมาณกลางปีหน้าภาคท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวดีขึ้นมาก เพราะนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา

เงินบาทยังอ่อนค่า

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทจากส่วนต่างของดอกเบี้ย ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยและดูดสภาพคล่อง ในขณะที่ยุโรปปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำไปอีกสักระยะ และญี่ปุ่นไม่ทำอะไรเลย ส่วนจีนจะลดดอกเบี้ยลงด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ค่าเงินดอลลาร์ในระยะยาวมีโอกาสแข็งค่าต่อไป กดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ จนกระทั่งน้ำมันดีขึ้น ขาดดุลการค้าลดลง และท่องเที่ยวดีขึ้น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง จะเป็นแรงหนุนค่าเงินบาทและมีผลต่อนัยการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ