ดอลลาร์แข็งค่าในฐานะสกุลเงินปลอดภัย กังวลความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในฐานะสกุลเงินปลอดภัย กังวลความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยประชุมรอบหน้าเดือนกันยายนที่ 0.50% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กระทรวงการคลังคลังคาดเศรษฐกิจปี 2566 โต 4.2% ผลจากการบริโภคภาคเอกชน และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมากขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 36.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/8) ที่ระดับ 36.13/15 บาท/ดอลลาร์

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยืนยันเรื่องการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทางนายบูลลาร์ดกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้น หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

ขณะเดียวกันเขาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะฟื้นตัวจากช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัวลง และทางด้านนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ได้แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวลง

ทั้งนี้ FedWatch Tool CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตรา 0.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.และให้น้ำหนัก 63.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนัก 49.50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.

นอกจากนี้นักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ หลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวันและสร้างความไม่พอใจให้กับจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ประณามการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ระบุว่า จีนจะใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนเพื่อตอบโต้การเดินทางครั้งนี้ และสหรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 605,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.7 ล้านตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 และต่ำกว่าเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.14 ล้านตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงการคลังรายงานสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.2% จากปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 3.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน และกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมากขึ้นภายหลังจากการเปิดประเทศ

โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านคน ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ราว 6 ล้านคน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.16-36.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/8) ที่ระดับ 1.0149/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/8) ที่ระดับ 1.0233/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0150-1.0198 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0186/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 130.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/8) ที่ระดับ 130.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 133 จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.29-133.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI และ ISMภาคการผลิต/ภาคบริการ เดือน ก.ค. ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ค.ของจีน อังกฤษ และยูโรโซน ด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.75/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ