“นักวิจัยญี่ปุ่น” เผยน้ำบนดาวอังคาร รสชาติคล้าย “ซุปราเม็ง”

สำนักข่าวเจแปนไทมส์ รายงานว่า ทีมนักวิจัยของประเทศญี่ปุ่นค้นพบว่า “น้ำ” บน “ดาวอังคาร” ซึ่งเชื่อกันว่าเคยมีอยู่มาตั้งแต่ 3,500 ล้านปีก่อน ประกอบไปด้วยเกลือและแร่ธาตุ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตได้

ทีมนักวิจัยระบุว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพน้ำที่เชื่อว่า มีเคยอยู่ในแอ่งหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร โดยใช้ข้อมูลจากตะกอนที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจ “คิวริโอซิตี” (Curiosity) ของสหรัฐอเมริกา

โดยทีมนักวิจัยที่นำโดย รศ.ไคซูเกะ ฟุกุชิ จากมหาวิทยาลัยคานาซาว่า และ ศ.ยาซูฮิโตะ เซกิเนะ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ได้ทำการประเมินปริมาณน้ำด้วยเทคนิคที่ใช้ในการวิจัยแบบการกำจัดทางธรณีวิทยาของกากนิวเคลียร์ (the geological disposal of nuclear waste) ซึ่งผลการวิจัยพบว่า น้ำบนดาวอังคารมีความเข้มข้นของเกลืออยู่ในระดับ 1 ใน 3 ของน้ำทะเลบนโลก

น้ำบนดาวอังคาร “มีรสชาติเค็มคล้ายน้ำซุปมิโซะและน้ำซุปของบะหมี่ราเม็ง” ศ.เซกิเนะกล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่าน้ำบนดาวอังคารยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอย่างเช่น แมกนีเซียม


ทีมนักวิจัยเชื่อว่า ความเข้มข้นของเกลือถึงระดับนี้ หลังจากที่น้ำในแอ่งหลุมอุกกาบาตค่อย ๆ ระเหยในระยะเวลากว่า 1 ล้านปี รศ.ฟุกุชิ ระบุว่า การวิจัยนี้จะปูทางไปสู่การค้นหาว่าเคยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสิ่งชีวิตบนดาวอังคารหรือไม่ เมื่อใด และสภาพแวดล้อมดังกล่าวหายไปได้อย่างไร ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงบนวารสาร British Communications Nature ฉบับวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา