ดิสนีย์หวั่นไหวหรือไม่ ลิขสิทธิ์ มิกกี้เมาส์ ทำเงินหมื่นล้าน ใกล้หมดอายุ วัย 95

เริ่มนับเวลาถอยหลังแล้ว แม้จะเหลือเวลาอีกสองปี มิกกี้ เมาส์ ตัวละครขวัญใจเด็กๆ ทุกยุคทุกสมัย กำลังจะเข้าสู่โหมดการเป็นสาธารณสมบัติ เมื่อมีอายุครบ 95 ปี

เกิดคำถามในวงการธุรกิจว่า เมื่อถึงเวลานั้น ดิสนีย์ ผู้เคยครอบครองลิขสิทธิ์จะต้องสูญเสียรายได้มหาศาลหรือไม่ และจะรับมืออย่างไร

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ยูโรนิวส์ รายงานว่า มิกกี้ เมาส์ ตัวละครชูโรงของค่ายดิสนีย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิงโลก สัญชาติอเมริกัน กำลังจะพ้นการเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายดิสนีย์แล้ว เมื่อถึงปี 2024 หรือพ.ศ. 2567

ตอนนั้น มิกกี้ เมาส์จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มสาธารณสมบัติ หรือ public domain เช่นเดียวกับตัวละครดังอมตะอย่าง แฟรงเกนสไตน์, เชอร์ล็อก โฮล์มส์, โรบิน ฮูด และ แดร็กคิวลา

ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อผลงานสร้างสรรค์มีอายุถึง 95 ปี งานดังกล่าวจะไม่มีลิขสิทธิ์อีก ทุกคนนำไปดัดแปลงต่อยอด โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานต้นฉบับ

มิกกี้ปรับโฉมน่ารักขึ้นเป็นขวัญใจ

มิกกี้แจ้งเกิดในภาพยนตร์ขาวดำ ‘Steamboat Willie’ ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ใส่เสียงเรื่องแรก ทำให้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในภาพยนตร์และโทรทัศน์

9 ทศวรรษนับจากนั้น รูปโฉมของมิกกี้ก็ปรับให้น่ารัก ซุกซนดูเหมือนหนูมากขึ้น จนเป็นขวัญใจผู้คนยิ่งขึ้น เช่น มีดวงตาสีดำขาว มีหูเล็กลง ทำจมูกให้กลม แต่ตอนแรกยังไม่ได้ใส่กางเกงสีแดง จนกระทั่งถึงปี 1935 

ดิสนีย์ทำเงินจากมิกกี้ เมาส์ หลายพันล้านดอลลาร์ หรือหลายหมื่นล้านบาท แต่เมื่อถึงปี 2024 ที่ลิขสิทธิ์ มิกกี้ เมาส์ หมดอายุ ผู้คนจะสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ มิกกี้ เมาส์ เป็นของตนเองได้ จนเป็นที่สงสัยว่า ดิสนีย์จะรับมืออย่างไร

Steamboat Willie

ไม้เด็ดอยู่ที่เครื่องหมายการค้า

คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญก็คือ ดิสนีย์ ยังอาศัยกฎหมายอื่นๆ ได้อยู่ รวมถึงกฎหมายเครื่องหมายการค้า หรือ trademark ไว้ใช้งานต่อได้ ถึงแม้ลิขสิทธิ์มีวันหมดอายุ แต่เทรดมาร์ก ไม่ใช่

“กรณีของมิกกี้ เมาส์ เป็นตัวอย่างว่า ไม่เพียงดิสนีย์จะครองชื่อเป็นเครื่องหมายการค้า ยังมีภาพวาดต่างๆ ที่ลงทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายการค้าแล้ว” มาร์ติน เซนฟ์เทิลเบน ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ‘The Copyright/Trademark Interface’กล่าว และว่า

“การผสมผสานลิขสิทธิและเครื่องหมายการค้า กลายเป็นยุทธศาสตร์การปกป้องสินค้าโดยมาตรฐาน สำหรับสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย การมีอยู่ของเครื่องหมายการค้าจะชัดเจนขึ้น เมื่อลิขสิทธิ์หมดอายุ

(AP Photo/Jae C. Hong, File)

เซนฟ์เทิลเบนกล่าวต่อว่า ประเด็นที่จะถกเถียงต่อไปคือ หากมีคนนำผลงานสร้างสรรค์ตัวมิกกี้ เมาส์ ขึ้นมาเป็นแบรนด์ดิสนีย์ ทางบริษัทดิสนีย์ก็มีสิทธิจะฟ้องร้องได้

ดังนั้น บรรดาครีเอเตอร์ หรือผู้สร้างสรรค์งานอาจลังเลใจที่จะใช้ภาพมิกกี้ เมาส์ เพราะดิสนีย์ได้ชื่อว่า จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่ปรานีผู้ละเมิด

ด้าน เดอะ การ์เดียน รายงานสัมภาษณ์ ดาเนียล มาเยดา รองผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษากฎหมายภาพยนตร์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย UCLA และทนายความด้านสื่อและความบันเทิงมาอย่างยาวนาน

REUTERS/Punit Paranjpe

นายมาเยดากล่าวว่า การหมดอายุลิขสิทธิ์ไม่ได้มาพร้อมกับการไม่ถูกจำกัดอะไรเลย

“คุณอาจใช้ตัวละครมิกกี้เมาส์สร้างเรื่องราวของคุณเองด้วยตัวละครตัวนี้ ให้เป็นต้นฉบับมิกกี้ เมาส์ของคุณเอง แต่ถ้าคุณทำในลักษณะที่ผู้คนจะนึกว่าเป็นของดิสนีย์ ซึ่งลงทุนในตัวละครตัวนี้มานานมาก ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว ดิสนีย์อาจบอกว่าคุณกำลังละเมิดเครื่องหมายการค้าของเขาก็ได้” 

ก่อนหน้านี้ ตัวละครอื่น ๆ ของดิสนีย์ที่หมดอายุลิขสิทธิ์และย้ายโหมดไปเป็นสมบัติสาธารณะโดยทันไม่คาดคิดถึงผลกระทบที่คาดไม่ถึงและบางครั้งช็อก

หมีพูห์เป็นตัวอย่างหมดอายุลิขสิทธิ์

เช่น วินนี่เดอะพูห์ หมีที่ชอบน้ำผึ้ง เข้าสู่การเป็น public domain ไปเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ จังหวะนั้นจะเห็นได้ว่า บางคนไม่รอช้าที่จะใช้ประโยชน์จากตัวละครขวัญใจ

อย่างเช่น นักแสดง ไรอัน เรย์โนลส์ สร้างวินนี่ เดอะ พูห์ เป็นโฆษณาให้ Mint Mobile โดยทำเป็นรูปแบบหนังสือสำหรับเด็กชื่อ ‘Winnie the Screwed’ มีเนื้อว่าหมีพูห์เจอค่าโทรศัพท์สูงลิบลิ่วจนต้องเอาหัวโขกโต๊ะ เพราะยังไม่เปลี่ยนมาใช้ค่ายมือถือของมินต์ โมบายล์ (คลิปด้านล่าง)

ส่วนชิ้นงานที่รบกวนจิตใจมากกว่านั้น เป็นภาพยนตร์ที่ดึงเอาหมีพูห์ และพิกเล็ท ไปปรากฏในหนังสยองขวัญที่จะฉายในเร็ว ๆ นี้ ภาพยนตร์ดังกล่าวเขียนบทและกำกับโดย รีส์ วอเตอร์ฟิลด์ แต่งเรื่องว่า พูห์และพิกเล็ทไล่ฆ่าคนอื่น หลังจากถูกเพื่อนเก่า คริสโตเฟอร์ โรบิน ทอดทิ้ง

มาเยดามองว่า ว่าสิ่งสำคัญสำหรับผู้สร้างงานของวอเตอร์ฟิลด์ก็คือจะไม่ล้ำเส้น เอาตัวละครลักษณะเก่ามาสร้างผลงานใหม่ เพราะลักษณะบางอย่างของตัวละครที่คนดูรู้ปุ๊บจะเข้าใจว่าเป็นของดิสนีย์นั้นถูกจำกัดไว้แล้ว

ดังนั้นหากใครจะสร้างงานใหม่ต้องไม่ทำให้สังคมสับสนว่า ผลงานนั้นเป็นของดิสนีย์หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับการถูกเล่นงานตามกฎหมายตามมา

เท่ากับว่า ดิสนีย์มีเครื่องหมายการค้าได้ตลอดไป ตราบใดที่พวกเขายังคงใช้สิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายการค้า ไม่ว่าจะเป็นคำ วลี ตัวละคร หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในผลงานของวอเตอร์ฟิลด์ จงใจไม่ใช้เสื้อแดงของพูห์ในภาพยนตร์ Winnie the Pooh: Blood and Honey

Winnie the Pooh: Blood and Honey วินนี เดอะ พูห์ ถูกนำไปสร้างเป็นหนังสยองขวัญ แต่ไม่ทับไลน์ดิสนีย์

วอเตอร์ฟิลด์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Variety ว่า “เราพยายามใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เรารู้ว่ามีเส้นแบ่งระหว่างลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า และเรารู้ว่าลิขสิทธิ์ของพวกเขาคืออะไรและทำอะไร

“เราพยายามอย่างเต็มที่ให้เห็นชัดว่า [ภาพยนตร์] อิงจากเวอร์ชั่นปี 1926 เท่านั้น ไม่มีใครจะเข้าใจผิดว่าเป็นของดิสนีย์ เมื่อคุณเห็นหน้าปกของเรื่องนี้ และเห็นตัวอย่าง ภาพนิ่ง และทั้งหมดนั้น ไม่มีทางที่ใครจะคิดว่านี่เป็นเวอร์ชั่นสำหรับเด็ก”

ทั้งนี้ ดิสนีย์ยังคงเป็นเจ้าชองลิขสิทธิ์ตัวละครเสือ ทิกเกอร์ เพื่อนของหมีพูห์ ต่อไปอีกหนึ่งปี เพราะตัวละครนี้โผล่มาทีหลังปี 1926 ที่สร้างสรรค์โดย เอเอ ไมลน์

การเมืองแทรกอิทธิพลดิสนีย์

ซูซานนา วิลสัน  ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นรองที่ปรึกษาทั่วไปของบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของดิสนีย์กับรัฐบาล หลังจากดิสนีย์มีประวัติยาวนานเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 วุฒิสมาชิก จอช ฮาวลีย์ จากพรรครีพับลิกันแห่งรัฐมิสซูรี ตกเป็นข่าวว่าคุกคามการขยายลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ หลังจากดิสนีย์คัดค้านการให้สิทธิผู้ปกครองเด็กรัฐฟลอริดาตามบทบัญญัติการศึกษา หรือที่เรียกว่ากฎหมาย “อย่าพูดถึงเกย์” เพราะเป็นกฎหมายที่ห้ามการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+ ในโรงเรียน

ตอนนั้นส.ว.ฮาวลีย์ กล่าวโจมตีว่า “หมดยุคของพรรครีพับลิกันที่เอื้อกับธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ต้องขอบคุณการคุ้มครองลิขสิทธิ์พิเศษจากสภาคองเกรส หลังจากบริษัทอย่างดิสนีย์ได้รับเงินหลายพันล้านแล้วนำไปทุ่มให้นักเคลื่อนไหว ถึงเวลาแล้วที่ต้องกำจัดความมีอภิสิทธิ์ของดิสนีย์ออกไป และเปิดยุคใหม่แห่งการสร้างสรรค์และนวัตกรรม

การแสดงท่าทีดังกล่าวของส.ว.ฮาวลีย์ ทำให้มาเยดามองว่า มาจากประเด็นทางการเมืองโดยแท้

“ไม่มีทางเลยที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภาได้” ฮาวลีย์กล่าว ถึงร่างกฎหมายแก้ไขบทบัญญัติลิขสิทธิที่เสนอโดย ส.ว.ฮาวลีย์ ซึ่งหวังจำกัดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ใหม่ ลดลงมาไว้ที่ 56 ปี และทำให้การเปลี่ยนแปลงมีผลย้อนหลังกับดิสนีย์ที่ได้รับการผูกขาดลิขสิทธิ์เป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

มาเยดาทองว่า ดิสนีย์กระตือรือร้นอย่างมากๆๆ ในการพยายามขยายเงื่อนไขลิขสิทธิ์  หากทำสำเร็จกับกรณีมิกกี้ ก็จะขยายไปยังตัวละครอื่นด้วย

……

ดิสนีย์แต่งตั้งผู้หญิงเป็นประธานบอร์ด ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 98 ปี