ทางหลวงขยายถนน 6 เลน งบฯ 697 ล้าน เชื่อม “โคราช-ขอนแก่น” เสร็จแล้ว

ทล. ขยายถนนเป็น 6 เลน เชื่อมโคราช-ขอนแก่นแล้วเสร็จ

กรมทางหลวงขยายทางหลวงนครราชสีมา-บรรจบทางหลวง 2067 (บ.บิง) 6 เลน ระยะทาง 16 กิโลเมตรเศษเสร็จแล้ว คาดช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางได้ปลอดภัย สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยหนุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2 สาย นครราชสีมา-บรรจบทางหลวงหมายเลข 2067 (บ.บิง) ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางยาวประมาณ 16.21 กิโลเมตร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 6 ช่องจราจร แล้วเสร็จ

เพิ่มประสิทธิภาพจราจร ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีนโยบายพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้สามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ทางหลวงหมายเลข 2 สายนครราชสีมา-บรรจบทางหลวงหมายเลข 2067 (บ.บิง) ระหว่าง กม.161+281-กม.177+500 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในเขตพื้นที่ ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา ผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และสิ้นสุดโครงการที่ตำบลบิง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ระยะทางประมาณ 16.21 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเศรษฐกิจในการเดินทางท่องเที่ยวและการขนส่งด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงระหว่างภาค ทั้งภายในจังหวัดนครราชสีมา ไปยังจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เส้นทางสายนี้มีปริมาณจราจร 33,420 คัน/วัน (ปี 2560) และมีปริมาณรถบรรทุกมากถึง 22.59% นับว่าเป็นการจราจรที่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีจำนวนช่องจราจร 4 ช่องจราจร เสี่ยงต่อการจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายในช่วงเวลาปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ

ถนนนี้จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการบูรณะปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของสายทาง กรมทางหลวงจึงดำเนินการก่อสร้างขยายสายทางดังกล่าว ระยะทางยาวประมาณ 16.21 กม. ลักษณะเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขยายจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ผิวทางแบบคอนกรีต กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร รวมความกว้าง 14.5 เมตร รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง งบประมาณ 697,277,000 บาท


เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางที่สามารถรองรับการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรในด้านความปลอดภัย มีความสะดวกและรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ช่วยบูรณะและพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายหลักที่เชื่อมโยงระหว่างภาค ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค