ประกาศเตือนฉบับที่ 10 พายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” 27 จังหวัดฝนตกหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 10 พายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” เตือน 27 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก เสี่ยงท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ขณะที่ กทม.มีฝนตกเฉลี่ย 60% ของพื้นที่

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่อง “พายุดีเปรสชั่น มู่หลาน” ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2565

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (11 ส.ค. 65) พายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” บริเวณเมืองเซินลา ประเทศเวียดนามตอนบน โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 190 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือละติจูด 21.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 35 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป

ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

พายุมู่หลาน-ดีเปรสชัน
อธิบายแผนที่ : แผนที่อากาศผิวพื้นวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น. ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่พายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 11 สิงหาคม 2565

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น และมุกดาหาร

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 12 สิงหาคม 2565

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น.

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 17:00 วันนี้ ถึง 17:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน
แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร
นครพนม ขอนแก่น และมุกดาหาร
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.