ศบค. ไฟเขียวร้านขายยา จ่ายยาผู้ป่วยโควิด เริ่ม 1 ก.ย.

ศบค. ไฟเขียวร้านขายยา จ่ายยาผู้ป่วยโควิด เริ่ม 1 ก.ย.

ศบค.ไฟเขียวให้ร้านยาจ่ายยาผู้ป่วยโควิด-19 เริ่ม 1 ก.ย.นี้ เผยคลังส่วนกลาง เหลือยากว่า 10 ล้านเม็ด

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ว่า การคาดการณ์ฉากทัศน์โควิด-19 ระยะหลังการระบาดใหญ่ (post pandemic) พบว่าการติดเชื้อรายใหม่อยู่ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ถือเป็นเรื่องที่ดี

แต่เมื่อไปดูอาการหนัก ใส่ท่อหายใจกลับไปแตะที่เส้นสีแดง ซึ่งความเสี่ยงยังอยู่ในกลุ่มป่วย 608 ที่เป็นการติดเชื้อถึงปอด ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็อยู่ในเส้นสีแดงเช่นกัน เราจึงต้องร่วมกันรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นเพื่อลดอัตราเสียชีวิต

“หากคนบอกว่าติดก็ติดไป ไม่เป็นอะไร แต่ในด้านสาธารณสุขเราต้องป้องกันดี ๆ แม้คนแข็งแรงก็ต้องดูแลเรื่องลองโควิด-19 โดยต่างประเทศก็มีคณะกรรมการมาติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ”

อย่างไรก็ตาม การสำรองยาในประเทศ ดังนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 5 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 6.76 ล้านเม็ด ยาเรมเดสซิเวียร์ 3.8 หมื่นโดส ซึ่งมีความเพียงพอ โดยการใช้ยาในภาพรวม พบว่าแนวโน้มลดลง นั่นหมายถึงคามเข้าใจของประชาชนดีขึ้นว่าการติดเชื้อไวรัส สามารถหายได้เอง เป็นการเก็บยาไว้ใช้ในผู้ที่จำเป็นจริง ๆ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องยา สธ.ได้นำเสนอเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งรัดการขึ้นทะเบียนยา ขณะที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็เตรียมสำรองยา

ส่วนกองทุนก็เตรียมบริหารจัดการค่ายาและการกระจายยาไปยังคลินิกเวชกรรม ซึ่งในวันที่ 1 กันยายนนี้ หน่วยบริการนอก สธ.สามารถจัดซื้อยาได้เอง ขณะที่ร้านขายยาก็สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ตามใบสั่งแพทย์ ส่วนหน่วยบริการใน สธ.สามารถเริ่มจัดซื้อยาได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เพื่อความคล้องตัวในการสำรองยาและการจัดซื้อยาด้วยตนเองตามความต้องการของหน่วยงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์เฉลี่ยต่อวัน ณ วันที่ 15 สิงหาคม พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ยาวันละ 13,957 ราย อัตราการใช้ยาฟาวิฯ เฉลี่ยวันละ 402,309 เม็ด ยาโมลนูฯ อีก 236,446 เม็ด โดยมีแนวโน้มการใช้ยาฟาวิฯ ที่ลดลง จากที่เคยใช้สูงสุดถึงวันละ 829,000 กว่าเม็ด ขณะที่ยาโมลนูฯ มีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นจากต้นเดือน ส.ค. ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 166,413 เม็ด