อัพเกรด 12 ตลาด กทม. พลิกโฉมกูร์เมต์คนกรุง ฟื้น “จตุจักร” ติดอันดับโลก

อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล
อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล

ได้รับการแต่งตั้งแบบเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ จากอดีตผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบ (TCDC) องค์กรนวัตกรรมระดับประเทศ วันนี้กับบทบาทใหม่กลายเป็นหนึ่งในทีมชัชชาติ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล” ประธานคณะกรรมการบริหารคนใหม่ สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กับภารกิจที่รับมอบหมายเติมเต็มเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพลิกโฉมตลาด กทม. ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ ตลาดประชานิเวศน์ 1, ตลาดราษฎร์บูรณะ, ตลาดหนองจอก, ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ตลาดรัชดาภิเษก, ตลาดเทวราช, ตลาดบางแคภิรมย์, ตลาดธนบุรี, ตลาดนัดจตุจักร และตลาดนัดมีนบุรี

เติมเต็มเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“อภิสิทธิ์” เปิดประเด็นด้วยหัวข้อนโยบายฝากฝังของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กทม. เรื่องแรกสุดคือความสะอาด สำนักงานตลาดรับผิดชอบตลาดใน กทม. จำนวน 12 แห่ง โดยตลาดตลาดใหญ่อย่าง “จตุจักร-มีนบุรี-ธนบุรี” เป็นที่รู้จักดีของคนกรุงเทพฯ เช่น ตลาดธนบุรีที่เรียกว่าสนามหลวงสอง ขณะที่มีตลาดชุมชน 9 แห่งที่เป็นตลาดสดจริง ๆ เช่น ตลาดเทวราช ตลาดรัชดา ตลาดสิงหา

บางตลาดมีลักษณะเฉพาะมาก เช่น ตลาดสิงหาอยู่ใต้สะพาน เลยมองไม่ค่อยเห็น มีร้านตัดผมเยอะมาก 12-13 ราย จึงเรียกตลาดกัลบก ซึ่งภาพของตลาดสด กทม. ในแง่ความสะอาด กลิ่น ระบบบำบัดน้ำเสียต้องปรับปรุง โดยบอร์ดใหม่ตั้งโจทย์คิดว่าตลาด กทม.มีลักษณะเฉพาะ เช่น ลูกค้านักท่องเที่ยว หรือคนไทยที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทำให้เกิดบุคลิก เกิดความต้องการที่มีต่อตลาดยุคใหม่

“เพราะฉะนั้น อาจารย์ชัชชาติก็เลยบอกให้ผมมาช่วยดูว่าเราจะเติมความคิดสร้างสรรค์ เติมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใส่เข้าไปในตลาด ทำให้มี value creation คือการสร้างคุณค่า มันไม่ใช่การสร้างมูลค่า แต่สร้างคุณค่าให้ตลาด ต้องแสดง character ของตลาดออกมาเพื่ออำนวยให้ตลาดมันมี value มากขึ้น เช่น ความ trust ว่าตลาดมันดูน่าเชื่อถือ หรือตลาดเป็นพื้นที่ที่เป็นมิติที่ไม่ใช่ค้าขายอย่างเดียว ยังมีมิติอื่น ๆ มิติทางสังคม มิติทางวัฒนธรรม ผมเข้ามาทำคงไม่ได้มองในมิติเดียว”

คำอธิบายคือ มิติเดิมคนเดินตลาดตอนเช้าซื้อข้าว ซื้อหมู ซื้อผัก ซื้อปลา เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของชาวบ้าน ในขณะที่มุมมองเชื่อว่ามีมิติทางสังคมคล้ายกับประเทศตะวันตก อย่างเช่น คนกรุงเทพฯ คิดว่าเย็นนี้จะกินอะไร จะซื้ออะไร ถ้าคนที่ทำกับข้าวก็จะซื้อวัตถุดิบ คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ทำกับข้าวก็มาซื้ออาหารสำเร็จร้านริมถนน หรือว่าเข้าไปในตลาด ฟังก์ชั่นของตลาดมันเปลี่ยนมิติไป มันคือการเพิ่ม value เพิ่มคุณค่า อันนี้เป็นโจทย์แรก

ตั้งดรีมทีมเขย่าฟังก์ชั่น

อีกโจทย์หนึ่งคือ ในตลาดมีผู้ค้ารวมแล้ว 2-2.5 หมื่นแผง คำนวณ 1 แผงมีลูกน้อง 2 คน บวกค่าลูกน้อง ค่าใช้จ่าย กำไร ของกิน บวกสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ตกยอดขายแผงละ 6 หมื่นบาท/เดือน คูณด้วย 2.5 หมื่นแผง จะมีเม็ดเงิน 1,500 พันล้าน/เดือน เป็นยอดเงินหมุนเวียนในระบบของตลาด แต่ value chain มันยาวกว่านั้น เพราะทั้งลูกน้องและเจ้าของร้านก็ต้องเอาเงินไปเลี้ยงครอบครัว ทำให้มีเงินที่อยู่ในระบบตก 5.5 พันล้าน/เดือน เป็นสเกลใหญ่พอจะหมุนธุรกิจในกรุงเทพฯได้

ดังนั้น สำนักงานตลาด กทม.ต้องดูแลผู้ค้าว่า ทำยังไงให้เขามีเงิน มีความสามารถในการหาเงิน

“สำหรับผมก็มีโจทย์ คือ ดูแลผู้ค้า ดูแลคนมาเดินตลาด แล้วก็เติมฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ใส่ลงไปในตลาด เรามีทีมงานที่มาทำงานร่วมกันจากหลากหลายสาขา จากสถาปัตย์ นักธุรกิจ กรมการค้าภายใน ทำให้มีหลากหลายมุมมอง ผมก็เชื่อว่าด้วยความหลากหลายอันนี้มันจะขยับตลาดไปได้อีก direction หนึ่ง”

ติดหัวรบ MIB-ขายของออนไลน์

โจทย์เรื่องการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ค้าในตลาด “อภิสิทธิ์” กล่าวว่า ต้องอัพสกิลของตัวเราเอง ของผู้จัดการตลาด ต้องพยายามโน้มน้าวผู้ขายให้เอาของที่มีคุณภาพมาขายมากขึ้น ต้องสร้าง trust ให้ตลาดมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งมันมาจากสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ข้างบนดูสวย ข้างล่างดูเละ น้ำหนักตรงตามกิโล หรือแม้กระทั่งการจัดการตลาดต้องทำให้โปร่งใสมากขึ้น ตรงไหนที่มันคลุมเครือ เราก็คงต้องหยิบมาทำบนโต๊ะมากขึ้น อะไรที่สามารถทำออนไลน์ก็ต้องปรับให้เป็นออนไลน์มากขึ้น ทำให้เป็นสากลมากขึ้น

“ถ้าคน trust เรื่องความสะอาด คุณภาพอาหาร การบริหารจัดการ ทำไมคนถึงจะไม่มาตลาด ผมสังเกตว่าของในตลาดถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในห้าง 30-40% เช่น หมูสันคอ ในซูเปอร์มาร์เก็ตผมซื้อโลละ 500 บาท แต่ซื้อที่ตลาดเทวราช 200 บาทเศษ ๆ ผัก 10 บาทได้กำมือนึง ไข่ในซูเปอร์ 70 บาท ในตลาด 46 บาท ราคาต่างกันตั้งเยอะ ถ้าผมสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพมันดี ซึ่งอาจจะต้องมี third party มาตรวจสอบ หรือส่งไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัย ตามคณะวิทยาศาสตร์การอาหาร แล้วก็ประกาศราคาว่าของเราเท่าไหร่ ผมว่ามันประหยัดไปได้ ที่ผ่านมาเราไม่เคยเอามาพูดกัน”

จุดโฟกัสเรื่องเพิ่มรายได้ก็คือการเพิ่มช่องทางออนไลน์ในตลาดธรรมดา จริง ๆ แล้วทุกวันนี้มีอยู่แล้วที่มีการทำ live สดขายของ ขายแบบประมูลก็มี ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคไปไกลกว่านั้นแล้ว ทุกวันนี้คนจะทำกับข้าว ไม่ได้ซื้อหมูเป็นกิโล แต่ซื้อและให้แม่ค้าแปรรูปให้ด้วย เช่น หั่นหมูสำหรับทำผัดกระเทียมพริกไทย พริกสด ผักต่าง ๆ หั่นแปรรูปมาเรียบร้อย ต้องมีคนบางกลุ่มที่ซื้อของกึ่ง ๆ ออนไลน์ สั่งของในตลาดพอเลิกงาน 4-5 โมงเย็น ขับรถมา pick up ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำได้

ทั้งนี้ ตลาดออนไลน์พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนที่ไม่คุ้นเคย ทำยังไงให้เขาสามารถมาใช้ช่องทางนี้ได้ โดยสำนักงานตลาดกำลังคุยกับตลาดนัดจตุจักรในการจัดตั้งห้องอบรม+ห้องทดลอง รวมทั้งจะต้องมีช่างภาพเพื่อสนับสนุนการนำเสนอสินค้าบนออนไลน์ เพราะการขายของบนออนไลน์ จุดขายสำคัญคือขายสินค้าได้ด้วยภาพ

“ผมว่ามีโมเดลที่เรามองเห็นได้เยอะแยะ เช่น ไปซูเปอร์มาร์เก็ตมีการจัดกระเช้าผักผลไม้ กระเช้าของขวัญ ถ้าเราให้ตลาดมีการจัด เราก็น่าจะได้ของคุณภาพเดียวกัน แต่ราคาถูกกว่า มันก็มีช่องทางในการทำ product ใหม่ขึ้นได้ และอีกเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม.ฝากมา คือการนำเสนอ OTOP ของกรุงเทพฯ และของใหม่อย่าง MIB-Made in Bangkok ซึ่งทางสำนักงานตลาด กทม.จะช่วยเป็นช่องทางนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกไป”

ตลาดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แนวคิดต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือทำตลาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จากพฤติกรรมมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มนิยมไปตลาดสด เช่น ตลาดเทวราชเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2508 งานโครงสร้างมันสวยมากเลย ถ้าเราปรับปรุงอาคาร ทัศนียภาพให้สวยงามมากขึ้น ผมว่ามันจะเป็นตลาดท่องเที่ยวได้ดี มันก็มีนักท่องเที่ยวที่มาเดินในตลาด เป็นการหยิบแคแร็กเตอร์ของแต่ละตลาดมาพัฒนาต่อยอด และมีหลายตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ตลาดสิงหาแต่ก่อนเป็นชุมทางการเดินเรือ ปัจจุบันมีสิ่งที่เหลือจากอดีตคือร้านตัดผม 12-13 ร้าน

กรณีตลาดชุมชนเก่าอย่างตลาดรัชดา ตลาดพลู มีแคแร็กเตอร์ชุมชนคนจีน มีร้านอาหารอร่อย ๆ วิธีการก็ทำตลาดสดให้เป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนร้านอาหารประจำย่าน รวมทั้งการใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น สามารถ map ในมือถือ ถ้าต้องการไปตลาดแล้วจะเดินไปซื้ออะไร ตรงไหน

สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการทำกิจกรรมกับตลาด เป็นการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทำแคมเปญตามวาระโอกาส เช่น หน้านี้มีสับปะรดเยอะ ตลาดก็ต้องทำกิจกรรมเกี่ยวกับสับปะรด, ช่วงเทศกาลกินเจก็อาจจะมีอีเวนต์โชว์การทำอาหารเจให้คนมาดู จะทำให้ตลาดครึกครื้นมากขึ้น หรือการเซตอีเวนต์ขึ้นมา มีแม่ค้าที่เก่ง ๆ มาทำอาหารโชว์ หรือเชิญเชฟไปซื้อของในตลาดมาทำอาหารให้ดู เป็นต้น

ติดแบรนดิ้งให้ตลาด กทม.

หัวใจสำคัญของ value creation ยังรวมถึงต้องปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชน หรือสื่อสารกับสังคมให้มากขึ้น ดังนั้น 12 ตลาด กทม.จึงต้องสร้างแบรนดิ้งขึ้นมาใหม่

โดยเฉพาะ “ตลาดจตุจักร” ที่มีลักษณะเฉพาะตัวสูง ทำแค่รีแบรนดิ้งก็พอ สินค้าออกแนวไลฟ์สไตล์ คนที่เข้ามาเดินกลุ่มลูกค้ากว้างมาก แนวผู้ใหญ่ แนวครอบครัว ตอนเย็น ๆ มีกลุ่มวัยรุ่นเพราะไลฟ์ไสตล์ของตลาดมีของที่ตอบโจทย์วัยรุ่น อีกกลุ่มหนึ่งกำลังกลับมาคือนักท่องเที่ยว ก่อนโควิดกลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยวจีน ตอนนี้เราก็มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาจากอินเดีย อเมริกาเหนือ ล่าสุดตัวเลขคนเดินตลาดจตุจักรแตะ 1.3 แสนคน/วันช่วงเสาร์-อาทิตย์ เทียบกับยุคปกติวันละ 3-3.5 แสนคน เมื่อโควิดดีขึ้น การเดินทางง่ายขึ้น ตัวเลขก็น่าจะขึ้นไปอีก เราแค่รอเจ้าใหญ่คือนักท่องเที่ยวจีน

เป้าหมายผลักดันตลาดนัดจตุจักรจะต้องกลับไปเป็นหนึ่งในตลาดที่ดีที่สุดของโลกให้ได้ จากสถานะปัจจุบันจตุจักรเป็นตลาดเอาต์ดอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพราะฉะนั้น จึงเชื่อมั่นว่าน่าจะทำได้

“ตัวอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถสร้างให้ได้นะครับ มันเป็นสิ่งที่แต่ละตลาดมีอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เราต้องไปค้นหาและหยิบออกมา แม้แต่ผู้ค้า 2 หมื่นกว่าแผง โลกยุคดิจิทัลแล้วแต่การรับเงิน (ค่าเช่าแผง) เรายังใช้กระดาษอยู่เลย ก็คงต้องเร่งปรับเปลี่ยนเรื่องระบบบริหารจัดการก็ต้องทำให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อะไรที่ทำออนไลน์ได้ให้ทำออนไลน์ อะไรที่เป็นดิจิทัลก็ต้องเปิดข้อมูลมากขึ้น หรืออะไรที่แอบ ๆ อยู่ก็ต้องเอามาวางบนโต๊ะ”

รีโมเดลลงทุน-เปิดสัมปทานเอกชน

หนึ่งในโมเดลการพัฒนาปรับปรุงตลาดยังรวมถึงการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานปรับปรุงและบริหารตลาด เช่น ตลาดพลู

“ตอนนี้เนื่องจากยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้เอกชนมารับช่วงไปไหม เพราะเรากำลังพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง กำลังพลในการบริหารจัดการตลาด ก็คงต้องกลับไปทำตัวเลขว่าจะให้สัมปทานไหม หรือจะลุยเอง เพราะสำนักงานตลาดมีประสบการณ์ 40 ปี คิดว่าถ้าเราทำคงไม่แพ้เอกชนทำ”

ยกตัวอย่าง ตลาดประชานิเวศน์ 1 พื้นที่ใหญ่มาก 19 ไร่ ศักยภาพเยอะ มีอายุตลาด 40 กว่าปี ในอดีตอาจดูเก่าแก่ แต่ปัจจุบันที่ดินตารางวาละ 1-1.5 แสนบาท ฐานลูกค้าก็เปลี่ยนไปเป็นระดับ B+ ดังนั้นตลาดอาจจะต้องปรับโฉมใหม่ ต้องตั้งโจทย์ให้ดี

ในภาพใหญ่ตลาด 12 แห่งของ กทม. ทำเลมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสำนักงานตลาดจึงต้องสำรวจมูลค่าที่ดินใหม่ สำรวจหน้าตาลูกค้าและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป

“…อาจต้องปรับเปลี่ยนตลาดสดให้เป็นแบบกูร์เมต์ของเครือเซ็นทรัล เราต้องตั้งโจทย์ให้ดีจากข้อมูลเหล่านี้ เราต้องการพื้นที่ที่มีฟังก์ชั่นใหม่เกิดขึ้นไหม คงไม่ใช่แบบแผงลอยมีเต็นท์ขายของกางแข่งกันเหมือนเดิม คงต้องมีการปรับปรุงให้หลากหลาย”

โดยการประชุมแมตช์แรก บอร์ดสำนักงานตลาดได้มอบหน้าที่ให้ผู้จัดการแต่ละตลาดไปทำเรื่องแผนบริหารจัดการ ภายใต้งบประมาณปี 2565 อะไรที่ต้องแก้ไขก็ต้องเร่งแก้ไข เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนปีงบประมาณ 2566 มอบโจทย์ 4-5 ข้อด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบจ่ายเงิน

รวมทั้งกำลังจะพัฒนาความร่วมมือกับเอกชนมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือกับกระเบื้อง Cotto ในการปรับปรุงห้องน้ำจตุจักร ซึ่งตรงกับนโยบายเร่งด่วนของผู้ว่าฯชัชชาติพอดีเลย