“โควิด-19″ลดระดับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

โควิด
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

กระทรวงสาธารณสุข ลดระดับ “โควิด-19” เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 สืบเนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลดระดับโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน

ย้อนกลับศึกษาความหมายของโรคติดต่ออันตรายคือ โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ส่วนโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังคือ โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์  “แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์” ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับโควิด-19 ที่กำลังจะกลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่คนไทยต้องรู้

ในช่วงปี 2563 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้กำหนดให้โควิดเป็นโรคเฝ้าระวังอันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ โดยการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อพบผู้ป่วย สามารถมีสิทธิสั่งการ ควบคุม และกักกันโรคได้ทันที ยกตัวอย่าง ถ้ามีการระบาดในร้านใดร้านหนึ่ง สามารถใช้อำนาจสั่งปิดสถานที่ได้เลย โดยไม่ต้องยื่นขอต่อศาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

จนกระทั่งในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดถึงเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ซึ่งในความจริงในนิยามกฎหมายไม่มีคำว่าโรคประจำถิ่น มีแต่โรคติดต่อ และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคติดต่ออันตรายที่มี 3 ระดับ เพราะฉะนั้น หากจะลดระดับจะเหลือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โควิดได้ถูกถอดจากโรคเฝ้าระวังอันตราย เปลี่ยนมาเป็นโรคเฝ้าระวัง หมายความว่า ถ้าเจอสถานที่ที่อาจเกิดการระบาดของโควิด หน่วยงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ทำได้แค่รายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขรับทราบถึงสถานการณ์ ว่ามีเคสเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจไปสั่งปิดสถานที่

สำหรับแนวทางปฏิบัติตัว ประชาชนปฏิบัติตัวเช่นเดิม ทั้งการระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย โดยกระทรวงสาธารณสุขยังเฝ้าระวัง มีระบบรองรับทางการแพทย์เช่นเดิม ส่วนการกักตัวเมื่อติดเชื้อโควิด ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยยังต้องกักตัว 5+5 ตามมาตรการของสาธารณสุข

โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา พระราชบัญญัติโรคติดต่อ เอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารเอาไว้ใช้ควบคุมโรคให้หยุดชะงักเท่านั้น