อัพเดตลงทุน ศักดิ์สยามโมเดล เม็ดเงิน 1.4 ล้านล้าน “บก ราง น้ำ อากาศ”

ฟรีค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์

บิ๊กอีเวนต์กระทรวงคมนาคม เบิกฤกษ์วันที่ 14-15 กันยายน 2565 ก่อนจบปีงบประมาณแผ่นดิน 2565 เบ็ดเสร็จวงเงินลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านบาท

เปิดพื้นที่ สถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station) จัดมหกรรม “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข” นิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565

นอกจากอัพเดตผลงานลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐแล้ว ยังส่งสัญญาณแถลงผลงานดักหน้าการเมืองไทยที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายของอายุรัฐบาล หากไม่มีการชิงยุบสภาเสียก่อน วาระครบ 4 ปีจะสิ้นสุดตามอายุสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมีนาคม 2566 และเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน หรือภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2566

โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ ในช่วง 2 ปีภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แต่การลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ไม่ได้หยุดหรือสะดุดลง เพราะ

“…การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รองรับการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง

โดย 2 ปียุคโควิด กระทรวงคมนาคมเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุน ขับเคลื่อนการจ้างงานโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศไทย

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

เร่งสร้างมอเตอร์เวย์-Rest Area

เริ่มจากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ยกระดับการเดินทางให้มีความปลอดภัย เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจทุกภูมิภาค ล่าสุดโปรเจ็กต์ถนนที่เป็นโครงการอยู่ระหว่างเปิดไซต์ก่อสร้าง อาทิ

“การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา” หรือมอเตอร์เวย์ รหัส M6 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษจากกรุงเทพฯ ไปภาคอีสาน ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 81,121 ล้านบาท ในปี 2565 จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ (ดูตารางประกอบ)

สถานะปัจจุบันได้เอกชนร่วมลงทุนในการติดตั้งระบบแล้ว จะเริ่มกระบวนการคัดเลือก เอกชนร่วมลงทุนสำหรับการพัฒนาและบริการที่พักริมทาง (service area) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2566

“โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี” หรือมอเตอร์เวย์ รหัส M81 โครงข่ายทางพิเศษจากกรุงเทพฯ เชื่อมไปยังภาคตะวันตก ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 62,452 ล้านบาท ในปี 2565 จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

ปัจจุบันได้เอกชนร่วมลงทุนในการติดตั้งระบบแล้ว และจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนสำหรับการพัฒนาและบริการที่พักริมทาง (service area) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2566 เช่นเดียวกัน

โครงการถนน

คู่ขนานด่วนดาวคะนอง-M82

ถัดมา “ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก” เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าลงสู่ภาคใต้ ออกแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม พร้อมทางด่วนยกระดับจากดาวคะนองไปบรรจบวงแหวนรอบนอกกาญจนภิเษก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 28,734 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567

“โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว” หรือมอเตอร์เวย์ รหัส M82 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ เป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก เพื่อต่อขยายทางพิเศษไปตามแนวถนนพระราม 2 ไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 บางขุนเทียน-เอกชัย กับช่วงที่ 2 เอกชัย-บ้านแพ้ว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้ง 2 ช่วง ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567

จ่อคิวทำ PPP-ขอเงินกู้ ตปท.

สำหรับแผนลงทุนซื้ออนาคต อาทิ “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์)” หรือมอเตอร์เวย์ M5 เป็นการต่อขยายทางพิเศษดอนเมืองโทลล์เวย์เดิม จากรังสิตไปยังปลายทางที่บางปะอิน แก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เชื่อมโยงกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์ด้วยกัน โครงการมีระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงิน 28,700 ล้านบาท

ปัจจุบัน ปี 2565 ขออนุมัติดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตามแผนปี 2566 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และพร้อมเปิดให้บริการปี 2569

ถัดมา “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง” มอเตอร์เวย์ รหัส M9 เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาทางพิเศษในโครงข่ายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (M9) ด้านทิศตะวันตก เพื่อทะลวงปัญหาการจราจรติดขัดในทุกวันนี้ ระยะทาง 36 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ปี 2565 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนปี 2566 เริ่มก่อสร้าง และปี 2568 เปิดให้บริการ

ถัดมา “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ” ซึ่งเป็นมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อภาคกลางไปยังภาคใต้ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงิน 79,006 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งการจราจรบนเส้นทางมุ่งสู่ภาคใต้

ปัจจุบันมีทางหลวงหมายเลข 4 เป็นเส้นทางหลักเพียงเส้นทางเดียว

ถัดมา “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา” เพื่อต่อขยายการให้บริการของมอเตอร์เวย์สาย M7 ให้สามารถเชื่อมเข้ากับสนามบินอู่ตะเภา สร้างความเชื่อมโยงในการเดินทาง รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจพื้นที่ EEC และพื้นที่เมืองการบินแห่งใหม่ในอนาคต ระยะทาง 1.92 กิโลเมตร วงเงิน 4,508 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการเงินกู้ คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และปี 2570 พร้อมเปิดให้บริการ

ด่วนกะทู้ ภูเก็ต ลุ้นนับ 1 ปีหน้า

ถัดมา “ทางด่วนเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง ภูเก็ต” เพื่อแก้ไขจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเป็นสายหลักเพียงเส้นทางเดียวในภูเก็ต มี 2 ช่วง 1.โครงการก่อสร้างทางด่วนสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินเบื้องต้น 30,456 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2567 เปิดบริการปี 2570

2.โครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,670 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นนักลงทุนภาคเอกชน จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 เปิดให้บริการปี 2570

2 สะพานเชื่อมเดินทาง-ท่องเที่ยว

ถัดมา “โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่” ก่อสร้างสะพานเชื่อมแผ่นดินใหญ่กระบี่กับเกาะลันตา เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยร่นเวลาเดินทางเหลือ 5 นาที จากเดิม 2 ชั่วโมง เพราะต้องใช้แพขนานยนต์ เริ่มต้นเส้นทางจากท่าเรือ ตำบลเกาะกลาง ไปยังเกาะลันตาน้อย ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร วงเงิน 1,648 ล้านบาท

ปัจจุบันมีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการ อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อลงทุนโครงการ

ถัดมา “โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมสงขลา-พัทลุง” เพื่อลดระยะการเดินทาง 2 จังหวัด จากเดิมจะต้องเดินทางอ้อมทะเลสาบ 80 กิโลเมตร เหลือเดินทางเพียง 7 กิโลเมตร นอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่แล้ว ประโยชน์ยังออกแบบเพื่อใช้เป็นเส้นทางอพยพประชาชนกรณีเกิดภัยพิบัติได้ ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 4,635 ล้านบาท

ปัจจุบันมีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการ อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อการก่อสร้างต่อไป

ขยายท่าเรือแหลมฉบังรับตู้เพิ่ม

สำหรับโปรเจ็กต์ลงทุนระบบทางน้ำ อาทิ “โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F” วงเงินลงทุน 62,835 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งานก่อสร้างดินถมเพื่อก่อสร้างท่าเรือ อยู่ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินการก่อสร้างงานดินถมทะเล

2.งานก่อสร้างโครงสร้างส่วนบนที่เป็นท่าเรือ และจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้า กทท.ได้ดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนแล้วเสร็จ โดยได้ลงนามกับ บริษัท GPC International Terminal แล้วเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564 3.ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไฟฟ้า ประปา อยู่ระหว่างการจัดซื้่อจัดจ้าง

ในอนาคตเมื่อการลงทุนแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าจาก 11 ล้านตู้ (TEUs หรือตู้ 20 ฟุต) เพิ่มเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี

พร้อมผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือพาณิชย์ไทย การพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง) รูปแบบให้สัมปทานระยะยาว 50 ปี สำหรับผู้รับสัมปทานรายเดียว (one operator) ใช้เงินลงทุน 1.18 ล้านล้านบาท ประเมินว่ารีเทิร์นเป็นรายได้ตลอดสัมปทาน 6.5 ล้านล้านบาท

ระบบราง-สนามบินจัดเต็ม

นอกจากนี้มีการพลิกโฉมการขนส่งระบบรางของไทย ให้เป็นแกนหลักของการเดินทาง และการขนส่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ด้วยการเร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ควบคู่กับยกระดับรถไฟไทยให้เป็นทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าของประเทศ และเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือบก (dry port) เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าทั้งระบบ

ด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินภูเก็ต พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (aviation hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และเกิดการค้า การลงทุนให้กับประเทศไทย

ศักดิ์สยามโมเดลเพื่อการพัฒนา

ไฮไลต์ภายใต้ “ศักดิ์สยามโมเดล” กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ด้วยการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบไม่มีไม้กั้น (M-flow)

การเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการติดตั้ง rubber fender barrier และ rubber guide post บนทางหลวงและทางหลวงชนบท เพื่อช่วยป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

งานเสริมความคล่องตัวด้วยการกำหนดความเร็วการขับขี่รถยนต์ ได้สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง การพัฒนา application Taxi เพื่อสร้างทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับผู้ขับรถแท็กซี่

รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบาย นำรถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารประจำทาง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมไปด้วยในเวลาเดียวกัน