ศักดิ์สยาม โรดโชว์ลงทุน แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เชื่อม 2 มหาสมุทร

ท่าเรือแหลมฉบัง

คมนาคมโรดโชว์เมกะโปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ดึงบริษัทเรือทั่วโลกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สัมปทาน 50 ปี ลงทุน 1.18 ล้านล้าน กิจกรรมหน้าท่า-หลังท่าทันสมัย ไฮไลต์รูปแบบลงทุน “สัญญาเดียว” ชูจุดขายเป็นทางลัดเชื่อม 2 มหาสมุทร

ในวาระที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 หรือ TPTWG52 ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565 ภายใต้เป้าหมายหลักคือ การขนส่งไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน เป็นจังหวะสำคัญที่กระทรวงคมนาคมใช้เป็นเวทีโรดโชว์แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เพื่อแสดงความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีโปรเจ็กต์ไฮไลต์ภายใต้ “ศักดิ์สยามโมเดล” ด้วยการเปิดพิมพ์เขียวนิวเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ประกอบด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน (Southern Land Bridge) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง นอกจากนี้มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสาร และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็น 1 ในท่าเรือสำคัญของภูมิภาค สู่การยกระดับเป็นท่าเรือสำคัญระดับโลก

ภายใต้อีเวนต์โรดโชว์เอเปค โรดโชว์ประเทศไทย กระทรวงคมนาคมยังได้จัดนิทรรศการและเสวนาสร้างความรับรู้ความเข้าใจในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ธีมจัดงาน “Transport United for Happy Jouney” ที่สถานีกลางบางซื่อ (Bang Sue Grand Station) อีกด้วย

ปีเสือลงทุน 1.4 ล้านล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน 10 ประเทศ ด้านทิศเหนืออยู่ติด สปป.ลาว เมียนมา ทิศตะวันออกมีกัมพูชา เวียดนาม ทิศใต้มีมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน แต่ศักยภาพไม่ใช่แค่เซ็นเตอร์ของภูมิภาคอาเซียน

แต่เป็นเซ็นเตอร์ของจุดที่จะต้องเดินทางในระหว่างทวีปเอเชียด้วยกัน และอาจจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของโลกในอนาคต นำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ทางด้านคมนาคม 4 มิติ ครบทั้งมิติทางบก ราง น้ำ อากาศ

ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนรวมเม็ดเงินทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 5.16 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่อีก 9.74 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานกว่า 1.54 แสนตำแหน่ง คาดว่ามีเงินหมุนเวียนในส่วนการจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ เครื่องจักร พาหนะต่าง ๆ 1.24 ล้านล้านบาท

และทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ 4 แสนล้านบาทในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 2.35% ของ GDP

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ไทยเป็นทางลัด 2 มหาสมุทร

ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับทุกประเทศทั่วโลก สถิติปี 2562 มีปริมาณการขนส่งทั่วโลกรวมทุกเส้นทาง 151.9 ล้าน TEUs (ตู้ 20 ฟุต) หรือประมาณ 2 พันล้านตัน และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้อุตสาหกรรมการเดินเรือทะเลทวีความสำคัญที่ทุกภูมิภาคในโลกล้วนต่างให้ความสนใจ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีประชากรมากกว่า 4.7 พันล้านคน และมี GDP คิดเป็นสัดส่วน 39% ของ GDP โลก ภูมิภาคเอเชียจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าและการส่งออกทางทะเล

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก กับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา มีความหนาแน่นคับคั่ง 100,000 ลำ/ปี มีตู้สินค้าผ่านช่องแคบ 70.4 ล้าน TEUs/ปี แนวโน้มอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็น 120,000 ลำ/ปี ทำให้ประเมินว่าอาจมีปัญหาการขนส่งสินค้าล่าช้าและการสัญจรทางน้ำติดขัด นอกจากนี้ถือเป็นเส้นทางเดินเรืออ้อมอีกต่างหาก

โดยสภาพภูมิศาสตร์ของไทย ตั้งอยู่ใจกลางคาบมหาสมุทรอินโดจีน การมีท่าเรือขนส่งสินค้าฝั่งอันดามันเชื่อมต่อฝั่งอ่าวไทยจะทำให้ไทยเป็นทางลัดของเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก ทำเวลาได้ดีกว่าการผ่านช่องแคบมะละกา 3-5 วัน ประหยัดค่าขนส่ง transshipment ทำให้เกิดการพัฒนาหลังท่า เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งผลักดันพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Landbridge เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร-ระนอง โดยออกแบบให้มีการขนส่งเชื่อมโยงต่อเนื่องหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นถนนมอเตอร์เวย์กับทางรถไฟ ตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ หรือ MR-Map เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินประชาชน รวมทั้งสร้างการขนส่งแบบ pipeline โดยใช้ระบบท่อ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล และประตูการค้านำเข้าส่งออกสู่อาเซียนและประเทศจีน

บูมแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง

รูปแบบการพัฒนาโครงการ จะเป็นการพัฒนาท่าเรือระนองและสร้างท่าเรือชุมพร ออกแบบพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกทันสมัย โดยได้มีการศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการท่าเรือ การขนย้ายสินค้าด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (automation) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การพัฒนาท่าเรือให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม smart port อย่างสมบูรณ์

เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาโครงการ Landbridge เมื่อโครงการพัฒนาแล้วเสร็จ จะทำให้มีการขนส่งสินค้าผ่านพื้นที่นี้ได้กว่า 20 ล้าน TEUs สามารถช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งได้ 3-5 วัน

พิมพ์เขียวโปรเจ็กต์ยังรวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สีเขียว นั่นหมายความว่าในอนาคตพื้นที่ระนองและชุมพร ถูกยกระดับเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจระดับโลก World Class Business Center และ Green and Hi Technology Industrial จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ชุมพรและระนอง ได้ต่อยอดผลผลิตในพื้นที่ เช่น การแปรรูปยาง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ อาหารทะเล อาหารฮาลาล และอุตสาหกรรมไฮเทค

โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับคนในชุมชน และดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก จากการคำนวณผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีสัดส่วน GDP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ซึ่งมีผลทำให้ภาพรวมในระยะยาว 50 ปี จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้กว่า 6.5 ล้านล้านบาท

โรดโชว์ลงทุน-สัมปทาน 50 ปี

สำหรับการดำเนินโครงการ กระทรวงคมนาคมวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและร่วมลงทุน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง, เส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ มูลค่าลงทุนรวม 1.1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม โดยรูปแบบเป็นการลงทุนแบบสัญญาเดียว (one operator) ที่รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่หลังท่า มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยนักลงทุนจะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขนส่งผ่าน Landbridge และผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเป็น commercial residential และ industrial พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับมากมาย

โดยมาสเตอร์แพลนตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2575 การดำเนินการหลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะได้จัดให้มีการโรดโชว์นำผลการศึกษาซึ่งอยู่ในรูปแบบ business model ไปโรดโชว์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีความสามารถในการเป็นสายการเดินเรือในระดับโลก

“โครงการ Landbridge ชุมพร-ระนอง จะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเลที่เป็น transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ” นายศักดิ์สยามกล่าว

อัพเดตรถไฟไทย-ลาว-จีน

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีนว่า รถไฟความเร็วสูงใน สปป.ลาวสร้างเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างคุนหมิง ประเทศจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ ของลาว เป็นระบบทางเดี่ยวหรือรางเดี่ยว ซึ่งแตกต่างประเทศไทยซึ่งได้ศึกษาโครงการเพื่อที่จะทำในรูปแบบทางคู่หรือรางคู่ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบได้ในปี 2572

ซึ่งรถไฟความเร็วสูงไทย-ลาว-จีนนั้นจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มูลค่าโครงการรวม 179,412 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569, เฟสที่ 2 โคราช-หนองคาย 356 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วางแผนเปิดบริการปี 2571

เฟสที่ 3 หนองคาย-เวียงจันทน์ 16 กม. มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร บนสะพานมีทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง และขนาดทาง 1 เมตร จำนวน 2 ทาง ความยาวสะพานรวม 1.5 กม. ความคืบหน้าอยู่บนโต๊ะเจรจาร่วม 3 ฝ่าย ไทย-ลาว-จีน

รถไฟทางคู่ 4,000 กม.

ถัดมา โครงการรถไฟทางคู่ แผนแม่บทมีระยะทางรวม 4,000 กม.ทั่วประเทศ ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 25% คิดเป็นระยะทาง 1,100 กม. ในอนาคตจะเพิ่มศักยภาพของการขนสินค้าควบคู่ไปกับการขนส่งผู้โดยสาร จากปัจจุบันมีรถไฟรางเดียว ทำให้รถไฟขนคนซึ่งใช้ความเร็วสูงกว่ารถไฟขนสินค้าต้องเสียเวลารอสับราง ในอนาคตเมื่อมีรางคู่เกิดขึ้น ทำให้รถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 150 กม.ต่อชั่วโมง

“สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ รถไฟทางคู่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้เกือบ 30% ช่วยลดความหนาแน่นการจราจรรถบรรทุกบนถนนได้ ผลพลอยได้ทำให้หน่วยงานลดงบประมาณซ่อมแซมถนนได้

“สิ่งสำคัญจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเราจะดีขึ้น โครงการนี้ต้องใช้เวลารอแผนปี 2578 จะมีครบ 4,000 กิโลเมตร ถือเป็นการวางรากฐานปัจจุบันส่งต่อให้กับอนาคต”

ลงทุนรัฐอัพเกรดโซน EEC

เมกะโปรเจ็กต์ยังรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทางรวมกัน 220 กม. เป็นโครงการที่ช่วยในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เป็นแลนด์สเคปสำคัญในการดึงดูดการลงทุนหลังยุคโควิด โครงการออกแบบให้มี 9 สถานี มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายสิ่งกีดขวางและเวนคืนเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการ

นอกจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งสนับสนุน EEC แล้ว ยังมีโครงการภายใต้กระทรวงคมนาคมโครงการที่จะช่วยในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยหลังยุคโควิด อาทิ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าลงทุน 65,835 ล้านบาท, โครงการพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา เป็นต้น