นารา เครปกะเทย ถูกรวบ เครือข่ายอาหารเสริมผสมสารอันตราย

รวบ นารา เครปกระเทย
ภาพจาก มติชน

รวบ “นารา เครปกะเทย” เครือข่าย “ชาร์มาร์ กลูต้า” อาหารเสริมผสมสารอันตราย

วันที่ 27 กันยายน 2565 มติชน รายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน)

หลังเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 7 จุดในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.มหาสารคาม จ.พระนครศรีอยุธยา จนสามารถจับกุม

  • นายอนิวัต ประทุมถิ่น อายุ 23 ปี หรือ “นารา เครปกะเทย” เน็ตไอดอลชื่อดัง
  • นายเมธากร จันทวงศ์ อายุ 39 ปี
  • น.ส.นิชกานต์ แก้วมีสี อายุ 28 ปี

3 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า”

พ.ต.อ.เนติกล่าวว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้าได้มีการนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook), ติ๊กต๊อก (Tiktok) และไลน์ (Line) มาทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์ “ชาร์มาร์ กลูต้า” มีส่วนผสมของสารวัตถุออกฤทธิ์ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2565 จึงสืบสวนขยายผลจนทราบว่า บริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด ของ น.ส.นิชกานต์ ได้ว่าจ้างให้โรงงานสิรินดา คอสเมติกส์ ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา

ก่อนว่าจ้างให้นายอนิวัต หรือนารา เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ส่วนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายสินค้าจะถูกโอนเข้าสู่บัญชีธนาคารของนายเมธากร ซึ่งเป็นญาติของ น.ส.นิชกานต์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานจนนำมาสู่การจับกุมดังกล่าว

พ.ต.อ.เนติกล่าวอีกว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้หนักใจ เนื่องจากมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ ขณะที่ในส่วนของนายอนิวัต หรือนารา แม้จะปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนหรือกระบวนการผลิต เป็นเพียงอินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกจ้างมาทำการโฆษณา หรือการตลาด แต่เมื่อเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคมได้

ด้าน นพ.สุรโชคกล่าวว่า สาร 2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ซึ่งช่วงหลังมักถูกตรวจพบว่ามีโรงงานผู้ผลิตลักลอบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้นเหมือนไซบูทรามีน ซึ่งอันตรายจากการใช้สารตัวนี้จะมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

ส่วนไซบูทรามีน จะมีอาการตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้