ประธานศาลปกครองแถลงผลงานก่อนเกษียณ มั่นใจคนใหม่สานต่อ

ชาญชัย แสวงศักดิ์
ชาญชัย แสวงศักดิ์

“ชาญชัย แสวงศักดิ์” เผยผลงานในช่วงดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด สะสางคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วเสร็จจำนวน 243 คดี คงค้างเพียง 13 คดี

วันที่ 27 กันยายน 2565 สำนักงานศาลปกครองได้จัดงานแสดงมุทิตาจิตแก่ตุลาการศาลปกครองที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 9 ราย และ พ.ศ. 2565 จำนวน 11 ราย และข้าราชการฝ่ายศาลปกครองที่เกษียณอายุราชการ เนื่องจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 24 ราย และ พ.ศ. 2565 จำนวน 28 ราย ณ ห้องสัมมนา 1-2 ชั้น 11 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

โดยภายหลังเสร็จสิ้นงานดังกล่าวแล้ว นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในตุลาการศาลปกครองที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ได้ร่วมพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน และผลงานในวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดด้วย

นายชาญชัยกล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 เป็นเวลา 1 ปีนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานได้ทั้งหมด จึงได้เน้นไปที่การสะสาง เร่งรัด และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของศาลปกครอง ใน 2 ส่วนงานที่สำคัญ ได้แก่

ส่วนที่หนึ่ง งานขับเคลื่อนภารกิจการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง เพื่อการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1. เร่งรัดการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีการชะลอการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และมีคดีที่รอการพิจารณาวินิจฉัยจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวนมากถึง 103 คดี ดังนั้น จึงได้เร่งรัดนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบ One Conference เข้ามาใช้ในการประชุม และได้สั่งการให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยจากที่ประชุมใหญ่ เพิ่มเติมอีกจำนวน 163 คดี รวมเป็น 266 คดี โดยนับแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2565 มีคดีที่ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 253 คดี และมีคดีคงค้างการพิจารณาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเพียง 13 คดีเท่านั้น

2. บริหารจัดการคดีของศาลปกครองให้ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อลดปริมาณคดีค้างสะสม โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 มีจำนวนคดีคงค้างการพิจารณา จำนวน 26,677 คดี และมีคดีรับเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองนับถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 จำนวน 12,759 คดี รวมทั้งสิ้น 39,436 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 12,382 คดี และคงค้างการพิจารณา จำนวน 27,472 คดี ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง คือ จำนวนตุลาการศาลปกครองมีไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณคดี ผู้บริหารศาลปกครองทุกระดับจึงได้ตระหนักและมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้เร่งรัดการสรรหาตุลาการศาลปกครองชั้นต้นและตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ได้จำนวนตุลาการศาลปกครองที่เพียงพอจะรองรับปริมาณคดี และได้ขอให้ตุลาการศาลปกครองลดทอนงานต่าง ๆ ที่ไม่ใช่งานคดี เพื่อให้สามารถเร่งรัดพิจารณาพิพากษาคดีได้มากยิ่งขึ้น

3. การวางแนวปฏิบัติในการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน หรือคดีปกครองที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีเดียวกัน ให้มีแนวคำวินิจฉัยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยการจ่ายสำนวนคดีประเภทเดียวกันให้แก่องค์คณะที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะองค์คณะเดียวกัน และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการตรวจสอบว่า คดีที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีในทำนองเดียวกันนั้น ควรต้องจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะใด เพื่อลดปัญหาการจ่ายสำนวนคดีประเภทเดียวกันให้แก่องค์คณะหลายองค์คณะ และลดทอนปัญหาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่แตกต่างกันในกรณีที่แต่ละองค์คณะมีแนวคำวินิจฉัยไม่ตรงกัน ควบคู่กับการดำเนินมาตรการวิเคราะห์จัดทำแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง

ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมประเด็นปัญหาที่มีความลักลั่นในการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว รวม 41 ประเด็น และสรุปแนวคำวินิจฉัยหลายแนว รวม 12 ประเด็น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ช่วยลดปัญหาความลักลั่นในการวินิจฉัยคดีปกครองที่มีลักษณะอย่างเดียวกันได้

4. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาทางปฏิบัติในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคดีที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยรวดเร็ว เพื่อให้คู่กรณีและประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า โดยแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีมติเห็นชอบให้เสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับงานส่วนที่สอง เป็นงานอื่นที่เกื้อกูลหรือสนับสนุนงานของศาลปกครอง ที่ได้มอบนโยบายการดำเนินงานที่ให้สำนักงานศาลปกครองรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย งานเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายปกครองและคดีปกครองให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคดีปกครองและกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ควบคู่กับการขับเคลื่อนงานวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ

โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับหน่วยงาน สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ไปแล้ว จำนวน 14 หน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ก.พ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครอง และหน่วยงานความร่วมมือในการเสริมสร้างหลักปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานทางปกครองต่าง ๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลักดันให้กฎหมายปกครองเป็นหลักสูตรความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ที่จะจบไปทำงานในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยลดข้อพิพาททางปกครองที่เกิดจากความไม่รู้หรือความรู้ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ศาลปกครองก้าวสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะจึงได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร โดยพัฒนาระบบสืบค้นอัจฉริยะ (AI Search) ในการสืบค้นระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรศาลปกครอง รวมทั้งพัฒนาระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวว่า แม้จะมีการขับเคลื่อนและสะสางงานต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาไปได้มากพอสมควรแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาอีกจำนวนหนึ่งที่รอการแก้ไข ซึ่งเชื่อมั่นว่า นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะช่วยสานต่อและเดินหน้าพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนและในระดับสากล เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการอำนวยความยุติธรรมของศาลปกครองที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการดำเนินงานของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะให้สมดุลกันได้อย่างแน่นอน