กทม. ตั้งเป้าเป็นเมืองปลอดยาเสพติด โรงเรียน ชุมชนต้องปลอดภัย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ภาพจาก กรุงเทพมหานคร)

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยกเหตุรุนแรงที่หนองบัวลำภูเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาจริงจังมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ากรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดถยเสพติด โรงเรียนและชุมชนต้องปลอดภัย

วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู ว่า ขอให้คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง ที่อย่าคิดว่าจะไม่เกิดอีก กทม. เองต้องเตรียมพร้อมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และต้องกำหนดมาตรการในโรงเรียนให้มากขึ้น ต้องไม่ให้คนอื่นเข้าในพื้นที่ และจัดให้มีระบบแจ้งเตือนป้องกันภัย

ทั้งหมดนี้อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือที่ปัญหายาบ้า และอาวุธปืนที่ต้องเคร่งครัดมากขึ้น ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาแล้ว มีความไม่ปกติของสภาพจิตใจของคน แต่หากคนในชุมชนเข้มแข็ง อาจจะทำให้เราเห็นได้ว่าคนในชุมชนเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร

“เหตุการณ์หนองบัวลำภูสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไป แต่ผ่านไปแล้วขอให้ทุกอย่างดีขึ้น ขอให้ผู้ที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และ กทม. คงต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากแยกประเภทปัญหาจะพบว่าปัญหาคืออาวุธปืน ยาเสพติด และพฤติกรรมของคน เรื่องยาเสพติดในช่วงนึงก็มีนโยบายจับกุมและดำเนินคดี จากนั้นมีนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยซึ่งต้องทำให้การดูแลเชิงลึกขึ้น แต่หากสถานที่ไม่เพียงพอ คนดูแลไม่พอ และผู้เสพไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน

ส่วนเรื่องของอาวุธปืนในประเทศเราทำได้ลำบาก เนื่องจากในประเทศเรามีจำนวนอาวุธปืนหลักล้าน แต่นโยบายในการควบคุมอาวุธปืนก็มีความเข้มแข็งและชัดเจน คนที่จะซื้ออาวุธปืนเป็นใครบ้าง มีการพิจารณาว่าใครจะสามารถมีแล้วเก็บไว้ที่บ้าน หรือจะมีแล้วสามารถพกพาได้

ในส่วนของกทม.เป็นอำนาจของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้ ซึ่งในแต่ละปีมีการพิจารณาอนุญาตเพียงหลักร้อยเท่านั้น โดยเป็นผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ ราชทัณฑ์ ส่วนของตำรวจก็มีข้อยกเว้นหากเป็นการใส่เครื่องแบบเพื่อปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตามผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้นโยบายกวดขันในสถานที่ไม่จำเป็นต้องพกพาอาวุธมากขึ้น อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องพก และจะกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในสถานที่อื่นด้วย ซึ่งต้องดูว่าในส่วนของกทม.มีอำนาจอย่างไรบ้าง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจังที่กทม.ต้องเข้าไปดู ต้องเพิ่มมาตรการในชุมชน เสริมกำลังในชุมชน ให้ชุมชนได้ดูแลผู้ติดยาและทำการบำบัด ซึ่งกทม.มีศูนย์บำบัดของเรา และมีศูนย์บริการสาธารณสุขที่จะร่วมดูแล แต่กทม.จะรับไปทำให้เข้มเข้นขึ้น โดยต้องตั้งเป้าให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ปลอดยาบ้าถึงแม้จะยากหรืออยู่นอกการควบคุมของเราในหลายๆเรื่อง และชุมชน โรงเรียนต้องเป็นเขตปลอดยาบ้า

ต้องตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อให้มีมาตรการดำเนินการ ทั้งนี้ในชุมชนน่าจะมีข้อมูลและรู้กันอยู่แล้ว ประธานชุมชนรู้อยู่แล้วว่าคนไหนมีความน่ากลัวหรือจะเป็นอันตราย ต้องทำข้อมูลและทำในเชิงรุกให้เข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากกทม. ไม่ได้มีอำนาจทั้งหมด อย่างน้อยโรงเรียนของ กทม. ที่เรารับผิดชอบต้องปลอดภัย แต่รร. มีทั้งรปภ.และเทศกิจ ที่เป็นห่วงคือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มี รปภ. ครูอาสาก็เป็นครูผู้หญิงหรือผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมาก็ได้หารือผบ.ตร. และคุยกันต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการ Smart Safety Zone ซึ่งเรื่องยาเสพติดก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้คุยกับทางตำรวจตลอด ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เน้น แต่ตอนนี้ต้องร่วมมือกับตำรวจให้จริงจังและมากขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว