วิธีดูแลใจ เมื่ออยู่ในเหตุการณ์-ตามข่าวเหตุรุนแรง #กราดยิงหนองบัวลำภู

การดูแลจิตใจ PTSD เหตุรุนแรง กราดยิง
Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash

จากเหตุความรุนแรง สู่โรค PTSD-อาการข้างเคียงที่มีผลต่อจิตใจ รู้จัก-เท่าทันวิธีดูแลจิตใจ เมื่อต้องอยู่กับสถานการณ์ หรือต้องตามข่าวดังกล่าวเป็นเวลานาน

จากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม 2565) ไม่ได้มีแค่เพียงการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการเสียสูญทางจิตใจ เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ประสบในเหตุการณ์ดังกล่าวที่กลายเป็นแผลในใจของผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมไปถึงผู้ที่ติดตามสถานการณ์นี้และสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว ย่อมได้รับผลกระทบจากการติดตามข่าวดังกล่าวไปด้วย ทั้งในแง่ความเครียด และแง่ของอารมณ์ที่รู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย

คำถามสำคัญที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่แค่การหาวิธีการป้องกัน หรือวิธีรับมือเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในอนาคตเท่านั้น แต่การดูแลและเยียวยาจิตใจ ก็เป็นสิ่งสำคัญหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนเรียนรู้อาการทางด้านจิตใจ เมื่อประสบเหตุความรุนแรง และเรียนรู้วิธีรับมือจิตใจตัวเองจากเหตุเหล่านี้ไปพร้อมกัน

PTSD ภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้อยู่ในเหตุรุนแรง

อาการทางจิตใจที่สำคัญกับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์รุนแรง มักหนีไม่พ้นอาการที่มีชื่อว่า PTSD ซึ่งเป็นอาการทางจิตใจที่มีความรุนแรงสูงจนกระทบกับการใช้ชีวิตได้

กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คือ โรคเครียดภายหลังภยันตราย เช่น ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม สงคราม เป็นต้น ซึ่งคนที่ต้องเผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้น ๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้น ๆ

ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ตามมา

โรงพยาบาลเพชรเวช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการของโรค PTSD ว่า อาการเริ่มแรกของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ คือ จะเห็นภาพเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ ราวกับเครื่องเล่นวิดีโอที่ฉายแต่ภาพเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอน ฝันร้าย และเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง

ขณะที่อาการที่มักเกิดขึ้นตามมา คือ

อาการ Flash Back คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ จนเกิดความตื่นกลัว บางคนอาจมีอาการใจสั่น มือสั่น และเหงื่อออกมาก

การมองโลกในแง่ลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีความสุข ชีวิตหม่นหมอง มีอาการไม่สนใจในสิ่งที่เคยชอบทำ รู้สึกแปลกแยก และอาจร้ายแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

ความกลัวและพยายามหลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญเหตุการณ์ที่เคยประสบเหตุ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ

นอกจากนี้ โรค PTSD ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย และทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์ไปด้วย โดยสามารถนำพาไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่

  • โรคที่มีผลทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การหันมาใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาจทำร้ายตนเอง เป็นต้น
  • อาการทางร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก เป็นต้น

วิธีดูแลใจเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์รุนแรง

กรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลอ้างอิงว่า เด็ก คือ กลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และเด็กไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และผลกระทบที่มีต่อเด็ก มีตั้งแต่ปัญหาด้านสุขภาพจิต พัฒนาการ การเรียน และพฤติกรรม

แล้วพ่อแม่จะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้อย่างไร

สิ่งที่พ่อ แม่ และผู้ปกครอง สามารถทำได้ คือ

  • ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิดและถามคำถามต่าง ๆ “ถ้าเด็กต้องการเล่า โดยอย่าบังคับ”
  • ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง
  • ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
  • เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุ
  • หากพบความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมในเด็ก ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ โทร.สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ขณะที่การดูแลกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความเครียดออกมาได้ และมีโอกาสซึมซับพฤติกรรมเลียนแบบได้เร็วกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ต้องมีการดูแลที่ละเอียดมากกว่าเดิม

สิ่งที่ควรทำ คือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเด็กเป็นอันดับ 1 ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พยายามดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางใจ และพาไปทำกิจกรรมผ่อนคลาย ไม่ควรถามเด็กถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำเด็กออกสื่อ ออกข่าว และใช้เด็กเป็นเครื่องมือสร้างดราม่าเพื่อหากิน

ดูข่าว-ตามข่าวความรุนแรง มีผลต่อใจในทางอ้อมได้

นอกจากกลุ่มผู้ที่ประสบเหตุการณ์ หรือผู้ที่ต้องสูญเสียบุคคลจากเหตุความรุนแรง ที่เราควรช่วยกันดูแลและเยียวยาจิตใจแล้ว กลุ่มผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ทั้งการกราดยิง และการติดตามข่าวอื่น ๆ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เราควรช่วยกันดูแลจิดใจ เพราะอาจมีความเครียดสะสม และมีอารมณ์ร่วมจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนกระทบต่อสุขภาพจิตได้

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำวิธีการดูแลจิตใจเมื่อทราบข่าวหรือเห็นภาพความรุนแรง ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไป ใช้เวลากับกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลดอารมณ์ และความเครียดจากการรับข่าวสาร
  2. หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง ไม่ส่งภาพเหตุการณ์ หรือคลิปเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก
  3. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอารมณ์ช็อก เสียใจ โกรธ ทำใจไม่ได้ รู้สึกผิด สงบและยอมรับ
  4. แบ่งปันความรู้สึก พูดคุย ระบายความรู้สึกโดยเน้นความเข้มแข็งของจิตใจ ที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
  5. ถ้ารู้สึกไม่ไหว ขอคำปรึกษา ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันดูแล เยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวกับตัวผู้สูญเสีย ขณะเดียวกัน คนในสังคมและหน่วยงานต่าง ๆ อาจต้องกลับมาตั้งคำถามและหาวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียอีก ทั้งหลังเกิดเหตุการณ์ และก่อนเกิดเหตุใหม่ในอนาคต