#กราดยิงหนองบัวลำภู เมื่อจุดเริ่มต้น ไม่ใช่แค่เรื่องเหตุผลและอารมณ์

คนเดิน กราดยิง ก่อการร้าย

เปิดเรื่องราว และผลการศึกษาเกี่ยวกับการกราดยิง เมื่อเหตุผลและอารมณ์ ไม่ใช่แค่เหตุผลเดียวของการก่อโศกนาฏกรรมแห่งการสูญเสียชีวิต

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 จากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุด ที่เกิดขึ้นภายในศูนย์เด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุ เป็นอดีตตำรวจถูกไล่ออกจากราชการ และมีประวัติเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด

ก่อนหน้านี้ เมื่อกุมภาพันธ์ 2563 เคยเกิดเหตุสลดลักษณะคล้ายกันที่ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 โคราช จ.นครราชสีมา โดยผู้ก่อเหตุเป็นทหารระดับสิบโท มีจุดเริ่มต้นจากการผิดใจกับผู้บังคับบัญชา กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ยังเป็นแผลในใจของผู้ประสบเหตุและครอบครัวผู้บริสุทธิ์หลายคน รวมไปถึงเหตุยิงในพื้นที่กรมยุทธศึกษาทหารบก ถ.เทอดดำริ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

เหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่หาทางรับมือได้ยาก และไม่สามารถรู้เวลาล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การหาทางรับมือสถานการณ์ ไปจนถึงการหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต เป็นคำตอบสำคัญที่คนในสังคมต้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนถอดบทเรียนและผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการมองและแก้ปัญหาร่วมกัน

อาชีพ-สุขภาพจิต ปัจจัยสำคัญสู่เหตุสลด

นพ.ดร.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับ บีบีซีไทย ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุสลด คือ ปัจจัยด้านอาชีพการงาน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องอยู่กับกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้เกิดความเครียดสูง และการอยู่ใกล้อาวุธต่าง ๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่อาจนำไปสู่เหตุทำร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธได้

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์ไทย เปิดเผยว่า อาการของความเครียดมีอยู่สามกลุ่ม ได้แก่

  • อาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร
  • อาการทางด้านจิตใจ เช่น รู้สึกว้าวุ่นใจ คับข้องใจ ขาดความจดจ่อต่อสิ่งที่ทำ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น โกรธง่าย และความยับยั้งชั่งใจลดลง ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรง

ความรุนแรงสามารถเกิดได้กับตัวเอง หรือความรุนแรงต่อผู้อื่น ถ้ามีปัจจัยอื่นเพิ่มเติม เช่น ปัญหาสุขภาพจิต การติดยาเสพติด ภาวะทางสมอง ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

แต่กรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นคู่กรณี หรือไม่ได้มีเรื่องบาดหมางใจกันมาก่อน อาจเกิดจากสภาพจิตใจกับเหตุสลับซับซ้อนบางอย่าง ที่ต้องตามหาคำตอบต่อไป

เหตุกราดยิง ในมุมนักอาชญาวิทยา

รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ PPTV HD 36 ว่า เหตุความรุนแรงดังกล่าว ต้องดูจาก 2 ประเด็นหลัก คือ ความคับแค้น ความโกรธที่อยู่ในใจว่า มีเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่

อีกหนึ่งประเด็นคือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวคู่กรณี เช่น การก่อเหตุดังกล่าวมีใครเป็นสาเหตุหรือไม่ หรือเลือกก่อเหตุในที่ที่ทำให้เป้าหมายอ่อนแอ เป้าหมายมีโอกาสสู้น้อยหรือไม่

ขณะที่ประเด็นของยาเสพติด ในทางการแพทย์ ถือว่ามีผลต่อระบบสมอง วิธีคิด และการตัดสินใจ และเมื่อเจอเหตุกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ความคับแค้นใจบางสิ่งบางอย่าง การสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง ก็ทำให้มีโอกาสก่อเหตุมากกว่าคนทั่วไป และอาจก่อเหตุโดยไม่คิดถึงเหตุและผลได้

เหตุกราดยิง กับกรณีศึกษาสหรัฐอเมริกา

สำหรับใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศมาตลอด มักจะได้ยินชื่อ สหรัฐอเมริกา ในข่าวเหตุกราดยิงอยู่บ่อยครั้ง และเป็นประเทศที่กฎหมายการพกพาอาวุธ มีความเข้มงวดน้อยกว่าประเทศไทย ถึงขนาดที่ว่า คนทั่วไป สามารถถือครองได้อย่างเสรี และกลายเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนอย่างเสรีเช่นกัน

The Washington Post ประมาณการสถิติเกี่ยวกับเหตุกราดยิงไว้เมื่อปี 2558 ว่า จะเกิดเหตุกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิต 4 คนหรือมากกว่านั้น ทุก ๆ 47 วัน และเมื่อย้อนกลับไปดูสถิติเก่า ๆ พบว่าระยะห่างของการเกิดการกราดยิง (Mass Public Shooting) 2 เหตุการณ์ มีระยะที่เริ่มสั้นลง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง

  • สถิติระหว่าง สิงหาคม 2509 ถึง เมษายน 2542 เกิดเหตุกราดยิงทุก 180 วัน
  • สถิติระหว่าง เมษายน 2542 ถึง มิถุนายน 2558 เกิดเหตุกราดยิงทุก 84 วัน
  • สถิติระหว่าง มิถุนายน 2558 เรื่อยมา เกิดเหตุกราดยิงทุก 47 วัน

สถิติของ The Washington Post ระบุไว้เช่นกันว่า พบผู้ก่อเหตุหลากหลายอายุ ตั้งแต่สูงวัย อายุหลัก 70 ปี ไปจนถึงเด็กมัธยม อายุเพียงหลัก 10 ต้น ๆ

ด้าน Pew Research Center เปิดเผยผลการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุกรายิง ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อปี 2563 แบ่งออกเป็น 2 การจำกัดความ ดังนี้

FBI จำกัดความว่า เหตุกราดยิง คือเหตุการณ์ที่มีบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีส่วนร่วมในการฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้คน หากนับจำนวนตามคำจำกัดความดังกล่าว จะเท่ากับมีผู้เสียชีวิต 38 คน (ข้อมูล ณ ปี 2563 ไม่รวมมือปืน)

ด้านเว็บไซต์ Gun Violence Archive เว็บไซต์ฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงของปืนในสหรัฐอเมริกา จำกัดความว่า เหตุกราดยิง คือเหตุการณ์ที่มีการยิงคนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีใครถูกสังหารก็ตาม หากนับตามคำจำกัดความนี้ จะเท่ากับมีผู้เสียชีวิตมากถึง 513 คน (ข้อมูล ณ ปี 2563 ไม่รวมมือปืน)

ขณะที่จำนวนเหตุกราดยิง FBI รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2543 ถึง 2563 พบว่ามีจำนวนเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้น จากเมื่อปี 2543 ที่มี 3 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นเป็น 40 เหตุการณ์ในปี 2563

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการกราดยิง

ศูนย์การแพทย์ Irving มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เปิดเผยผลการสำรวจ 2 สาเหตุหลักที่คนมักเชื่อมโยงกับการกราดยิง คือ

1. อาการป่วยทางจิต (Mental Illness) มีงานวิจัยระบุว่าว่า เหตุรุนแรงเหล่านี้ มีเพียง 3-5% เท่านั้น ที่มีสาเหตุมาจากอาการป่วยทางจิต และความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุดังกล่าว มักเกิดจากการถูกกระตุ้นให้อาการป่วยทางจิตมีระดับที่รุนแรงมากขึ้น และกลายเป็นเหตุความสูญเสียในที่สุด

2. เกม หรือ วิดีโอเกม (Video Game) การศึกษาพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอเกมกับการเป็นเจ้าของอาวุธปืนในหมู่วัยรุ่น และแม้การเล่นเกมจะทำให้เกิดความก้าวร้าวมากขึ้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจกราดยิงด้วยเช่นกัน และสิ่งที่น่ากังวลที่มากกว่านั้น คือ การที่เด็ก ๆ ถูกสอนให้ใช้อาวุธจริงมาตั้งแต่เด็ก ๆ

หากสรุปจากการศึกษาใน 2 ทฤษฎีดังกล่าว จะพบว่าทั้ง 2 ปัจจัย ไม่อาจใช่ปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว แต่อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุที่ซับซ้อนมากกว่านั้น

ขณะเดียวกัน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ระบุว่า ปัจจัยเกี่ยวกับโรคทางจิตไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว บางเหตุเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านโรคหรืออาการป่วยทางจิต หรือปัจจัยด้านการเสพสารเสพติดของผู้ก่อเหตุร่วมด้วย

สังคมควรเยียวยาจิตใจ มากกว่าการหาสาเหตุความรุนแรง

นพ.ยงยุทธเปิดเผยเพิ่มเติมกับ PPTV HD 36 ว่า สิ่งที่สังคมต้องเป็นห่วง คือการช่วยกันเยียวยาจิตใจผู้สูญเสีย และหาทางป้องกันเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ หรือสูญเสียน้อยที่สุด มากกว่าการพยายามสืบหาคำตอบกันเองว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไร

ขณะที่ญาติของผู้ก่อเหตุที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายมากขึ้น

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.หนองบัวลำภู ในวันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชุมชนเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน ต้องทำงานร่วมกันในการดูแลและช่วยเหลือในการฟื้นฟูชุมชน อาทิ การอาศัยกระบวนการทางสังคม อย่างงานศพ เพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจ การให้อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เข้ามาช่วยดูแลจิตใจผู้สูญเสีย และผู้อยู่ในเหตุการณ์

ด้านการรับมือปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวของผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิธีการรับมือปัญหาดังกล่าวในระยะยาว คือ การปล่อยให้ความรู้สึกเศร้าได้แสดงออกมา พยายามเยียวยาจิตใจและทำให้รู้สึกว่าเขายังมีคนเข้าอกเข้าใจ ส่วนผู้ที่มีปัญหาในระดับรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิต จะเข้าให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษ

สรุปสุดท้ายแล้ว การก่อเหตุกราดยิง หรือเหตุความรุนแรงโดยอาศัยอาวุธนั้น ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเกิดเพราะอะไรกันแน่ และทุกคนในสังคมยังต้องพูดคุยและหาทางกันต่อไปว่า จะรับมือกับเหตุดังกล่าวในอนาคตอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้สามารถยับยั้งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในอนาคตได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ