จับตาคดีเหยื่อกราดยิงสหรัฐรุมฟ้องผู้ผลิต-ร้านขายปืนร่วมรับผิด

ตำรวจค้นบริเวณใจกลางเมืองชานเมืองไฮแลนด์พาร์ค รัฐอิลลินอยส์
(Tyler Pasciak LaRiviere/Chicago Sun-Times via AP)

เหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงในสหรัฐรวมตัวฟ้องผู้ผลิต-ร้านขายปืน ให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายจากเหตุกราดยิง หากสำเร็จอาจเปลี่ยนแปลงธุรกิจขายปืนในสหรัฐไปตลอดกาล

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ซีเอ็นบีซี รายงานว่า เหยื่อ-ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงในรัฐเทกซัส และรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าฟ้องร้อง บริษัทผู้ผลิตปืนและร้านขายปืน เพื่อให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายจากเหตุกราดยิง แม้กฎหมายสหรัฐจะให้ความคุ้มครองผู้ผลิตและผู้ขายอย่างเต็มที่

โดยกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุกราดยิงกลางพาเหรดวันชาติที่ไฮแลนด์ปาร์ก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ยื่นฟ้อง สมิธแอนด์เวสสัน หนึ่งในผู้ผลิตปืนรายใหญ่, ร้านขายปืนอีก 2 ร้านและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ร่วมกันรับผิดชอบความเสียหายจากเหตุกราดยิงซึ่งมีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 40 คน

เช่นเดียวกับครอบครัวของเด็ก 3 รายที่รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถม ของเมืองยูวัลดี รัฐเทกซัส ซึ่งพยายามดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ผลิตและร้านขายปืนในรูปแบบเดียวกันนี้ด้วย

ไม่หวั่น กม.คุ้มครอง

ทั้งนี้ แม้ปกติอุตสาหกรรมปืนของสหรัฐทั้งตัวผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐบาลกลาง ทำให้ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในเหตุกราดยิงใด ๆ แต่ครั้งนี้ผู้เสียหายทั้ง 2 กลุ่มและนักเคลื่อนไหวสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน เห็นโอกาสในการดำเนินคดี ด้วยการหยิบยกประเด็นเรื่อง แนวทางการทำตลาดและการขาย ของบริษัทปืนและร้านค้าที่อาจขัดต่อกฎหมายรัฐ-รัฐบาลกลางขึ้นมา

โดยในคำฟ้องคดีของเหยื่อเหตุการณ์ ไฮแลนด์ปาร์ก ระบุว่า สมิธแอนด์เวสสัน ใช้กลยุทธ์การทำตลาดซึ่งมุ่งดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีพฤติกรรมกล้าได้กล้าเสียและความหุนหันพลันแล่น

นอกจากนี้ ยังฟ้องร้องผู้ค้าปืน 2 ราย คือ Bud’s Gun Shop และ Red Dot Arms ซึ่งขายปืน สมิธแอนด์เวสสัน รุ่น M&P 15 ที่มีรูปทรงเหมือนไรเฟิลจู่โจมให้ผู้ก่อเหตุ โดยผิดกฎหมายและประมาทเลินเล่อ เนื่องจากเมืองไฮแลนด์ปาร์กมีกฎหมายห้ามขายปืนชนิดนี้ รวมถึงฟ้องร้องตัวผู้ก่อเหตุและบิดาเป็นจำเลยไปพร้อมด้วย

โดยผู้เสียหายฟ้องร้องให้นำผู้ถูกฟ้องแต่ละรายเข้าสู่กระบวนการศาล และจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนการฟ้องคดีของเหยื่อเหตุการณ์เมืองยูวัลดี นั้นยื่นฟ้องร้องผู้ผลิตปืน 2 ราย คือ แดเนียล ดีเฟนส์ (Daniel Defense) ผู้ผลิตปืน DMM4V7 ที่ผู้ก่อเหตุใช้ และไฟร์เควสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Firequest International) ซึ่งผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับชุดลั่นไกที่ทำให้ปืนแบบยิงทีละนัดสามารถยิงต่อเนื่องได้แบบปืนกลซึ่งผู้ก่อเหตุนำมาใช้ รวมถึงฟ้องร้อง โอเอซิส เอาต์แบ็ก ร้านขายปืน ที่ขายปืนให้ผู้ก่อเหตุ ทั้งที่รู้ว่าเป็นบุคคลน่าสงสัยและน่าจะก่ออันตราย

“การทำตลาดอาวุธปืนโดยที่มุ่งไปยังชายวัยรุ่นนั้น นับเป็นการตั้งใจเพิ่มความเสี่ยงและอันตรายต่อเด็กอเมริกันโดยไม่จำเป็น ซึ่งบริษัทปืนเลือกที่จะไม่สนใจอันตรายนี้ที่ตนก่อกับชุมชนอย่าง ยูวัลดี เพื่อแลกกับการสร้างรายได้ต่อไป”

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมีโอกาสชนะ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า การดำเนินคดีของผู้เสียหายทั้ง 2 กลุ่มนั้นท้าทายมาก เนื่องจากกฎหมายการค้าอาวุธปืน (awful Commerce in Arms Act หรือ PLCAA) ที่บังคับใช้เมื่อปี 2005 คุ้มครองผู้ผลิตและผู้ขายปืนให้ไม่ต้องรับผิดชอบในอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยใช้อาวุธที่ตนผลิต-ขาย

“เจค ชาร์ล” ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย เป๊ปเปอร์ดีน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาวุธปืน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นเกราะที่แข็งแกร่งมากของผู้ผลิต-ผู้ค้าปืนจากการถูกฟ้องร้องให้รับผิดในความเสียหายจากอาวุธปืน ด้วยการห้ามผู้เสียหายเรียกร้องในประเด็น ความประมาทเลินเล่อ เกือบทุกรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโจทก์มีโอกาสสู้ได้ หากยกประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องละเมิดกฎหมายของรัฐ หรือรัฐบาลกลาง ที่เกี่ยวกับการควบคุมการทำตลาดหรือการขายอาวุธปืน

เนื่องจากมีคดีตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อต้นปี โดย เรมิงตัน ผู้ผลิตปืนซึ่งถูกนำไปใช้ก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนอนุบาลแซนดี้ฮุก จนมีเด็กเสียชีวิต 20 ราย และผู้ใหญ่ 6 ราย เมื่อปี 2012 ตัดสินใจยอมจ่ายเงินชดเชยมูลค่า 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับครอบครัวผู้เสียหาย 7 ครอบครัว หลังโจทก์ในคดีดังกล่าวกล่าวหาว่า ปืนรุ่นที่ใช้ในการก่อเหตุนั้น ผู้ผลิตจงใจทำการตลาดแบบมุ่งไปยังชายวัยรุ่นที่สุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรง

“แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ผู้เสียหายในเหตุไฮแลนด์ปาร์ก และยูวัลดี จะชนะคดี เพราะต้องดูว่าผู้พิพากษาของแต่ละคดี จะยึดถือคำตัดสินของศาลในคดีแซนดี้ฮุกเป็นแนวทางหรือไม่”