เปิดรายละเอียด ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน-น้ำท่วม รัฐช่วยอะไรบ้าง

น้ำท่วม การช่วยเหลือ ประสบอุทกภัย
ภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
อัพเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 22.49 น.

เปิดข้อมูลภาครัฐกับการช่วยเหลือประชาชน กรณีประสบภัยพิบัติ จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ด้านอุทกภัยในปัจจุบัน ยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ บางพื้นที่ต้องอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมยาวนานนับเดือน สร้างความเสียหายให้กับผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก ทั้งแง่รายได้-ค่าครองชีพ และแง่ของทรัพย์สินต่าง ๆ

การเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติอื่น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ สามารถกลับมาลุกขึ้นยืนได้หลังสถานการณ์ดังกล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ กรณีประสบเหตุภัยพิบัติ ว่ามีการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มีการกำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ระหว่างยังไม่ได้รับงบประมาณรายจ่าย ดังนี้

  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี 100,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย กระทรวงละ 50,000,000 บาท
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50,000,000 บาท
  • สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แห่งละ 20,000,000 บาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงละ 10,000,000 บาท

ขณะที่กระทรวงการคลัง จัดทำ หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดรายการเบิกจ่ายสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น 6 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านการดำรงชีพ

เป็นการช่วยเหลือเงินหรือสิ่งของสำหรับการดำรงชีพ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อาทิ

  • ค่าอาหาร สูงสุดวันละ 150 บาทต่อคน (คิดเป็นค่าอาหารไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละ 50 บาท)
  • ค่าถุงยังชีพ สูงสุด 700 บาทต่อครอบครัว
  • ค่าใช้จ่ายดำรงชีพเบื้องต้น สูงสุด 3,800 บาทต่อครอบครัว
  • ค่าเช่าที่อยู่อาศัย กรณีผู้ประสบภัยเช่าบ้านเรือนของผู้อื่น และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ สูงสุด 1,800 บาทต่อครอบครัว (มีสิทธิรับการช่วยเหลือสูงสุด 2 เดือน)
  • ค่าเครื่องมือ หรือเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพ สูงสุด 11,400 บาท ต่อครอบครัว

การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

  • บาดเจ็บสาหัส รักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 4,000 บาทต่อคน
  • บาดเจ็บถึงขั้นพิการ ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 13,300 บาทต่อคน
  • เงิน/สิ่งของปลอบขวัญ กรณีประสบภัยขนาดใหญ่ที่สะเทือนขวัญประชาชน สูงสุด 2,300 บาทต่อคน
  • กรณีผู้ประสบภัยพิบัติเสียชีวิต จ่ายค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต 29,700 บาท/คน
  • กรณีผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว จ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวเพิ่มอีก 29,700 บาท

ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการในการจัดหาสาธารณูปโภคชั่วคราว

  • ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา น้ำบริโภค และค่าใช้จ่ายการสร้างพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอย ให้เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น
  • ค่าใช้จ่ายในการสร้าง/จัดหาห้องน้ำ สูงสุด 1,700 บาทต่อที่ โดยห้องน้ำ 1 ที่ ต้องรองรับสำหรับ 10 คน

ด้านสังคมสงเคราะห์

ช่วยเหลือโดยการจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เฉพาะพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยให้เบิกจ่ายได้ใน 4 ส่วน

  • อุปกรณ์การฝึกอาชีพ ไม่เกินคนละ 2,000 บาท
  • ค่าตอบแทนวิทยากร สูงสุดวันละ 500 บาท สูงสุด 10 วัน (ไม่เกิน 5,000 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายดำเนินงานปฏิบัติการฝึกอบรม สูงสุด 10,000 บาท
  • เงินทุนประกอบอาชีพที่ได้จากการฝึกอบรม ไม่เกิน 4,000 บาทต่อครอบครัว

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

ช่วยเหลือด้านการจัดหาเวชภัณฑ์ อาหาร และอุปกรณ์จำเป็น เพื่อช่วยเหลือประชาชน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อสุขอนามัยที่ดี อาทิ

  • ค่าอาหารเสริมโปรตีน และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อการฟื้นฟูร่างกาย ไม่เกิน 570 บาทต่อครอบครัว
  • ค่ายาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย (8 รายการ) ราคาตามบัญชีสำหรับหน่วยงานราชการ ขององค์การเภสัชกรรม
  • ค่ายาและเวชภัณฑ์ สำหรับการรักษาหรือป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม

ด้านการเกษตร

ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีได้รับความเสียหาย พืชล้มตาย สัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำตายหรือสูญหาย อาทิ

  • ให้เงินช่วยเหลือตามต้นทุนเฉลี่ย กรณีพืชได้รับความเสียหาย
  • ค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย และซากวัสดุที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม
  • ค่าขนย้ายปัจจัยการผลิตและผลผลิต กรณีจำเป็นต้องขนย้ายออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

ด้านบรรเทาสาธารณภัย

ช่วยเหลือและจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน และการช่วยเหลือประชาชนจากเหตุภัยพิบัติ อาทิ การจัดหาภาชนะรองรับน้ำ (โอ่ง ถังเก็บน้ำ) ซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหาย จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติฉุกเฉิน เป็นต้น

ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ค่าใช้จ่ายด้านค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของส่วนราชการนั้น ๆ รวมถึงเป็นค่าตอบแทน ค่าอาหาร ค่าจ้างเหมา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ กรณีรายการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับการให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ความช่วยเหลือว่าจะให้การช่วยเหลือในลักษณะใด โดยให้คำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม

ประยุทธ์จัดงบฯกลาง 2.3 หมื่นล้าน

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรื่องการเยียวยาหลังน้ำท่วมว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูเรื่องการฟื้นฟูเยียวยา เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายได้ เพื่อที่จะทำเรื่องการเบิกจ่าย

ส่วนเรื่องการสร้างรายได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดูแลเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพื่อที่จะดูแลเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทางหลวง ทางหลวงชนบท เร่งให้ทุกฝ่ายเข้าไปดูแล

พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดในที่ประชุม ครม.ว่า ตอนนี้ได้เตรียมงบประมาณ คาดว่าในเบื้องต้นจะใช้งบประมาณจากงบฯกลาง 2.3 หมื่นล้านบาทในการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งนี้ ในขั้นต้นเยียวยาตามระเบียบข้อกฎหมาย ส่วนอะไรที่เพิ่มเติมให้ได้ก็ยินดีที่จะดูแลให้ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครบถ้วน ตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบครั้งนี้ไม่เท่ากับ 2554 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ห่วงว่าจะมีผลระยะยาวที่ตามมา

มหาดไทยออก “ระเบียบใหม่” เปิดทางท้องถิ่นใช้จ่ายเร่งด่วน

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ลงนามโดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ให้ครอบคลุมสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

จึงได้เพิ่มหมวดที่ 5/1 คือการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านอื่น ๆ ดังนี้

ข้อ 15/1 “กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูเยียวยา สงเคราะห์และบรรเทาผลกระทบของประชาชน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาช่วยเหลือประชาชนได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด โดยให้คำนึงถึงสถานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย”

ระเบียบนี้ (ข้อ 2) ระบุไว้ว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป