อธิบดีกรมรางเผยยุทธศาสตร์ใช้รถไฟความเร็วสูงกระจายความเจริญ ควบคู่สร้างเมืองใหม่

อธิบดีกรมรางเผยยุทธศาสตร์ใช้รถไฟความเร็วสูงกระจายความเจริญ

ดร.พิเชฐ อธิบดีกรมรางเผยยุทธศาสตร์รถไฟความเร็วสูงไทยใช้กระจายความเจริญ สร้างเมืองใหม่ หวังเชื่อมต่อโครงข่ายในระดับภูมิภาค

วันที่ 29 ตุลาคม 2565 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุม “IHRA Forum 2022” ซึ่งจัดโดยสมาคมรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศ (International High-speed Rail Association : IHRA) เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อหารือและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (HSR) ในเชิงกลยุทธ์และการหาแนวทางเพื่อการพัฒนาให้ “รถไฟความเร็วสูง” เข้ามาแทนที่ “การรถไฟแบบเดิม”

โดยมีการร่วมศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สู่การวิจัยและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ต่างๆ โดยการนำหลักการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและรูปแบบของระบบรถไฟความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพเข้ามาใช้งาน เช่น การขนส่งด้วยความเร็วสูง ปริมาณความจุที่มากขึ้น ความถี่ต่อขบวนที่สูงขึ้น ความทันสมัยและเทคโนโลยีที่ดี มีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือระดับโลก และเป็นระบบขนส่งหลักที่เชื่อมต่อทุกที่ไว้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจากนานาประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 ตุลาคม 2565 ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น

ดร.พิเชฐ กล่าวในตอนหนึ่งว่า การพัฒนา HSR เป็นไปตามยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางในประเทศและในภูมิภาค ให้เป็นระบบการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พัฒนาเมืองใหม่ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งของประเทศ

รัฐบาลจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบการเดินทางและขนส่งของประเทศ โดยพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่ง และบูรณาการร่วมกับระบบคมนาคมอื่น ซึ่งวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ที่สำคัญของการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง คือการกระจายความเจริญของเมืองไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเมืองใหม่ และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี  โดยการพัฒนาแนวเส้นทางโครงข่าย HSR เชื่อมต่อพื้นที่ศักยภาพ เช่น แหล่งท่องเที่ยว และพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ เชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม แหล่งเกษตรกรรม

รองรับการเดินทางเชื่อมต่อไร้รอยต่อ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งของภูมิภาค ไปยังประเทศต่างๆ จึงเป็นยุทธศาสตร์และความท้าทายสำคัญในการพัฒนาระบบรางและ HSR เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งของประเทศ

ซึ่งระบบ HSR เป็นระบบใหม่ของประเทศไทย จำเป็นต้องพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน (การก่อสร้าง) การบริหารจัดการต่างๆ (การให้บริการเดินรถ การจัดตั้งองค์กรกำกับและให้บริการ) และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาผลประโยชน์ทั้งหมดอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาเมืองใหม่ การกระจายความเจริญไปสู่เมืองภูมิภาค เป็นต้น เพื่อให้เป็นระบบที่มีความสอดคล้อง ครอบคลุม เพื่อรองรับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร.พิเชฐ กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ สมาคมรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศ (International High-speed Rail Association : IHRA) เป็นองค์กรแห่งการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในยุโรปและเอเชีย โดยใช้หลักการหลีกเลี่ยงความผิดพลาด และวางแนวทางระบบโลจิสติกส์และความปลอดภัยทั้งหมด เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (HSR) ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2014 มีเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เกิดขึ้นทั่วโลก มุ่งเน้นความร่วมมือกันระหว่างประเทศ มีการแบ่งปันข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อร่วมมือกันสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

เพราะ “รถไฟความเร็วสูง” ไม่ได้เป็นเพียง “ระบบขนส่งความเร็วสูง” เท่านั้น แต่จะเป็นระบบที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนประเทศและภูมิภาคที่เกิดขึ้นใหม่ที่ต้องการการเดินทางที่มีความสะดวก และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความปลอดภัย เป็นระบบขนส่งหลักที่เชื่อมต่อทุกที่ไว้ด้วยกัน