รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่สะดุด ไตรศุลี ยืนยัน เป็นไปตามแผน

รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน

รองโฆษกรัฐบาล ยัน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คืบหน้าตามแผน พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่เข้าจัดเตรียมพื้นที่มีผลบังคับตั้งแต่ 27 ส.ค. 65  

วันที่ 28 สิงหาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. กระทรวงคมนาคมได้รายงานถึงความคืบหน้าว่าโครงการดำเนินการไปตามแผนงาน

สำหรับการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างนั้น เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี

โดยมีสาระสำคัญ ให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่แสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนความต่อเนื่องของโครงการ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ประกอบด้วย 15 สัญญา แยกเป็นงานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา ตลอดเส้นทางมีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. เป็นทางยกระดับ 188.68 กม. คันทางระดับดิน 54.99 กม. และอุโมงค์ บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง  8 กม. มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2569

สำหรับความคืบหน้าของงานโยธา 14 สัญญานั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา ได้แก่ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม., งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม.

ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม., ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม., ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม., ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม., ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. และช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม.

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ได้แก่ งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม., ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. และช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.

ขณะที่โครงการระยะที่2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางรวม 357 กม. ได้ออกแบบงานโยธาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ด้วยสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้มีการประสานความร่วมมือในรายละเอียดกับทาง สปป.ลาวโดยต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือน ต.ค.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มีกำหนดจะนำคณะทีมไทยแลนด์ไปเยือน สปป.ลาว พร้อมกับหารือความคืบหน้าโครงการร่วมกัน