สนข.อัพเดต Water Map จิ๊กซอว์เชื่อมเดินทาง “รถ เรือ ราง” คนกรุง

การโดยสารทางเรือ
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ บริเวณท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สนข. และคณะสื่อมวลชน ร่วมงานกว่า 60 คน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ สนข. ในปี 2565 ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงคมนาคม (2561-2580) สนข.ได้ร่วมวางแผนยุทธศาสตร์ฯ และติดตามทุกโครงการ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคมนาคมขนส่ง สร้างรากฐานการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคสอดรับทุกยุทธศาสตร์สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม

ปัญญา ชูพานิช
ปัญญา ชูพานิช

โดยในปี 2565 สนข.มีความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมหลากหลายโครงการ เช่น

1) การพัฒนาการเดินทางและการเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำ ปัจจุบันมีจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 65.4 กิโลเมตร มีท่าเรือทั้งสิ้น 103 แห่ง มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบอื่นจำนวน 8 จุด

โดยมีแนวทางการพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-Map) ให้เป็นทางเลือกการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับรูปแบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ

โดยมีเป้าหมายพัฒนาเส้นทางทางน้ำให้มีระยะทางเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร พัฒนาท่าเรือเพิ่มขึ้นอีก 97 แห่ง มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบอื่นเพิ่มเป็น 34 จุด ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 40 จุด ในปี 2575 โดยคาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะมีประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น 36.57%

2) การศึกษาจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการจราจร ปัจจุบัน สนข.ได้เชื่อมต่อข้อมูลกล้อง CCTV และข้อมูล GPS กับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามสภาพจรจร วางแผนจราจร และแก้ปัญหาจราจรติดขัด

3) การนำบัตร EMV มาใช้กับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ปัจจุบันบัตร EMV มีการนำมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และสายสีแดงแล้ว และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก

โดยมีการขยายเส้นทางรถประจำทางของเอกชนจำนวน 10 เส้นทาง ครบจำนวน 328 คัน และจัดทำแผนการดำเนินการลดการใช้พลังงาน ในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย

และ สนข.ยังจะผลักดันให้เกิดบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีเดียวกัน และมีอัตราค่าโดยสารร่วมอย่างเป็นธรรม โดย สนข.จะเป็นผู้กำกับดูแล

4) การพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าของประเทศเชื่อมการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบและพัฒนาจุดพักรถบรรทุกบนโครงข่ายถนนสายหลัก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง กรุงเทพฯ

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษา สำรวจข้อมูลและพฤติกรรมการขนส่ง จากนั้นจึงนำมาพัฒนา Model การนำมาตรการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่เมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทําแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการจํากัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

5) โครงการศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ ในระดับภูมิภาคและประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างประมวลสรุปผลการศึกษาเพื่อจัดทําร่างแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ระยะที่ 1 (2566-2570)

และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ระยะที่ 2 (2571-2580) เพื่อใช้ในการ Workshop กับภาคเอกชน 5 พื้นที่กลุ่มจังหวัด ก่อนพัฒนาเป็น Final Report และแผนปฏิบัติการขั้นต่อไป

6) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) ซึ่งมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2564

ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เพื่อนำผลการประชุมมาเป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานความก้าวหน้า โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาต่อ ครม.ได้ในปี 2566 นี้

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ยังคงขับเคลื่อนแผนงานคมนาคม และมุ่งมั่นติดตามทุกโครงการให้ประสบความสำเร็จตามที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงคมนาคม และแผนการพัฒนาที่สำคัญของชาติ เพื่อมุ่งสู่อนาคตการขนส่งที่ยั่งยืน