กทม.จับมือ 2 มูลนิธิพัฒนา Food bank ลดอาหารเหลือทิ้ง

กทม.จับมือ 2 มูลนิธิพัฒนา Food bank ลดอาหารเหลือทิ้ง
กทม.จับมือ 2 มูลนิธิพัฒนา Food bank ลดอาหารเหลือทิ้ง

รองผู้ว่า กทม. เซ็น MOU ร่วม 2 มูลนิธิพัฒนาการจัดการ Food Waste นำร่อง 10 สำนักงานเขต กทม.

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม. )ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และมูลนิธิ วีวี แชร์ (VV Share)

โดยมีนางสาวกรรณตรัตย์ วิเศษธรรมภัทร์ ประธานกรรมการมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ นางศรินทร เมธีวัชรานนท์ รองประธานมูลนิธิ วีวี แชร์ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

นายศานนท์ กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม กทม. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหาร และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารส่วนเกิน โดยมีการเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน

จากการลงนามบันทึกดังกล่าว จะมีการดำเนินงานใน 10 เขตนำร่อง ประกอบด้วย เขตบางขุนเทียน คลองเตย คลองสาน บางกอกน้อย บางแค บางพลัด พระโขนง ประเวศ ภาษีเจริญ และลาดกระบัง นำร่อง 3 วัน ต่อ สัปดาห์ คือ วันอังคาร พุธ พฤหัส จากนั้นจะขยายจำนวนวันและเขตพื้นที่ให้ครบคลุมทั้งกทม.ต่อไป

“Food Bank ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเขตทำอยู่แล้ว มูลนิธิทั้งสองมีประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่ง การให้ไม่ได้มองเฉพาะผลกระทบทั้งของผู้ให้และผู้รับ อาจไม่ใช่การวัดที่ว่าผู้ให้ได้ให้ไปแล้วกี่กล่อง แต่อาจจะสามารถคำนวณได้ว่าแต่ละวันมีอาหารที่เหลือเกินความต้องการเท่าไหร่และสามารถนำไปวางแผนเรื่องอื่นต่อไปได้

นอกจากนี้ เขตจะตั้งป้ายประจำจุดบริจาคให้ชัดเจน โดยเป็นจุดทั้งสำหรับผู้ที่บริจาคประจำและผู้ที่บริจาคไม่ประจำ อาจเป็นการบริจาคเนื่องในวันสำคัญต่างๆ”นายศานนท์ กล่าว

ทั้งนี้หน่วยงานองค์กรที่มีอาหารส่วนเกินสามารถบริจาคให้กทม.เพื่อส่งต่อแก่กลุ่มผู้รับ ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน) ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยต่างๆ

โดยอาหารส่วนเกินที่นำมาบริจาค (Food surplus) จะเป็นอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารปรุงสุกที่ไม่เกินหรือระบุภายในวันที่ควรบริโภคก่อน Best before : BBF แต่ยังไม่หมดอายุ ผลิตเกิน จำหน่ายไม่หมด สี รสชาติ คุณลักษณะอาจเปลี่ยนไปบ้างแต่ยังสามารถบริโภคได้ โดยไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ด้านนางสาวกรรณตรัตย์ กล่าวว่า การร่วมมือส่งต่ออาหารให้กลุ่มคนที่ต้องการอาหารเพื่อพัฒนาชีวิตต่อไป ซึ่งหากผู้ประกอบการทิ้งไม่ได้ส่งต่อ อาหารจะเป็นแค่ขยะ

ขณะที่ นางศรินทร กล่าวว่า กทม.เห็นปัญหาของขยะอาหารที่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังมีประชาชนต้องการอาหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธิฯจะเป็นตัวกลางให้หน่วยงานร่วมแบ่งปันอาหารให้แก่กลุ่มบุคคลด้อยโอกาส โดยไม่คิดถึงเชื้อชาติและศาสนา

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีการแบ่งบทบาทและหน้าที่สำหรับทั้ง 2 มูลนิธิดังนี้

สำหรับ​มูลนิธิวีวี แชร์ (VV Share) ดำเนินการ​ ดังนี้​

  1. ทำการเปิดบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ของกทม.จาก 4 เขต คือ เขตลาดกระบัง เขตพระโขนง เขตประเวศ และเขตคลองเตย เพื่อเข้าทำรายการผ่าน VV Share Application พร้อมทำการสอนวิธีการใช้งานอย่างละเอียด​
  2. ในทุกวันทำงานจะมีการประสานงานระหว่างผู้บริจาค มูลนิธิวีวี แชร์ และกทม. โดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จะเป็นผู้สร้างรายการเข้ารับบริจาคอาหารในแต่ละวันตามสาขาที่แจ้งความประสงค์ในการบริจาค​
  3. เจ้าหน้าที่ของกทม.เข้ารับบริจาคอาหาร โดยต้องลงข้อมูลใน VV Share Application เมื่อถึงแต่ละสาขา พร้อมทำการถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่แต่ละสาขาเซ็นใน VV Share Application เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลในการรับบริจาคอาหาร
  4. ก่อนการนำอาหารส่งต่อกลุ่มเป้าหมาย ให้เจ้าหน้าที่กทม. ทำการชั่งน้ำหนักและลงรายละเอียดประเภทอาหาร แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ กลุ่มทานรองท้อง (kg) กลุ่มสลัดผักผลไม้ (kg) กลุ่มข้าวและพร้อมทาน (kg) และอาหารกล่อง Chef Cares (กล่อง) และใส่ข้อมูลทั้งหมดลงใน VV Share Application โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือการลงชื่อปิดงานของเจ้าหน้าที่กทม.​
  5. การรายงานปริมาณอาหารที่เข้ารับบริจาค เจ้าหน้าที่ของกทม.สามารถเข้าดูรายงานได้แบบ real-time โดยใช้อีเมล์เพื่อให้มูลนิธิฯ เพิ่มสิทธิในการเข้าดูรายงานได้ หรือจะให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทำการส่งรายการผ่านทางอีเมลก็ได้เช่นกัน

ในส่วนของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ดำเนินการ​ ดังนี้​

  1. มูลนิธิ SOS รับข้อมูลผู้บริจาคที่ลงทะเบียนผ่าน Cloud Food Bank และบันทึกไว้ใน Google Sheet กลาง เพื่อให้ทางสำนักพัฒนาสังคม สื่อสารแผนการทำงานและรับอาหารจุดต่าง ๆ ให้กับสำนักงานเขตนำร่อง จำนวน 10 เขต โดยระบุข้อมูล เช่น ชื่อผู้บริจาค ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ประเภทอาหาร​ ปริมาณอาหาร เป็นต้น
  2. สำนักพัฒนาสังคม ส่งข้อมูลต่อให้แต่ละเขตเพื่อสร้างแผนงานในแต่ละวัน (ปฏิบัติงานทุกวัน อังคาร พุธ พฤหัสบดี) โดยเจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายจะต้องวางแผนการดำเนินงานและเข้ารับตามแผนที่กำหนดไว้
  3. ณ จุดรับอาหารส่วนเกิน เจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานรับอาหารตามจุดรับอาหาร จะต้องบันทึกน้ำหนักลงใน Google Form ที่ทางมูลนิธิ SOS ได้จัดทำไว้ให้ โดยจะต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมด คือ บันทึก​ 1 ครั้ง ต่อ 1 ผู้บริจาค และ 1 ประเภทอาหาร เมื่อส่งมอบผู้รับบริจาคแล้ว จะต้องบันทึกให้แล้วเสร็จในทุก ๆ วันของการทำงาน ซึ่งทางสำนักงานเขตสามารถจดบันทึกข้อมูลอาหารส่วนเกินที่ได้รับไว้ในกระดาษหรือฟอร์มใด ๆ ก่อนได้ ก่อนจะบันทึกน้ำหนักลง Google Form
  4. ทางมูลนิธิ SOS จะนำข้อมูลจาก Google Form ไปจัดระเบียบ ประมวลผล ให้ถูกต้องและสามารถใช้งานต่อได้ 5. ทางมูลนิธิ SOS จะส่งข้อมูลสรุปรวมการทำงานของ BKK Food Bank ใน 6 เขตนำร่องให้กับสำนักพัฒนาสังคมทุกสิ้นเดือน เพื่อรายงานผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบต่อไป