เลาะตะเข็บ “เก็บภาษี กทม.” 5 รายการใหม่-เก่าควักกระเป๋าคนกรุง

แห้มภาพ

แมตช์การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งที่ 26/2565 วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565 กลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำคนกรุง

เหตุผลเพราะถึงแม้จะมีวาระประชุมหลายเรื่อง แต่ไฮไลต์อยู่ที่มีการหยิบยกนโยบายสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับ กทม.ด้วยการขยายฐานภาษีและค่าธรรมเนียม จำนวน 5 รายการด้วยกัน ตั้งเป้าทำได้รายเพิ่มให้ กทม.อีกไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)

ทำให้สปอตไลต์ฉายส่อง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17 อีกครั้งหลังจากบริหารราชการ กทม.ได้ 6 เดือนเศษ

โฟกัส “5 ภาษี-ค่าธรรมเนียม”

สรุปสาระสำคัญ นโยบายการสร้างรายได้เพิ่มให้ กทม.จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารกรุงเทพมหานคร ปี 2528 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในรายการสำคัญไว้

คำว่า “รายการสำคัญ” หมายถึงเป็นรายการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้มีการจัดเก็บรายได้เป็นปกติตั้งแต่ปี 2546 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 มีจำนวน 3 รายการ ได้แก่ ภาษียาสูบ ค่าธรรมเนียมโรงแรม และภาษีน้ำมัน

กรณีนี้ เนื่องจากเป็นการขอแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ คาดว่าใช้เวลานานและไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน (รัฐบาลประยุทธ์ 2) ดังนั้น กว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติคาดว่าต้องรอให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลชุดใหม่ เท่ากับต้องรอเวลาถึงกลางปี 2566

ส่วนอีก 2 รายการมาจากการปิ๊งไอเดียของ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ที่ได้เดินทางท่องโลกและเห็นตัวแบบการจัดเก็บในต่างประเทศ ประกอบด้วย “ค่าธรรมเนียมจอดรถริมถนน” กับ “ภาษีผู้ก่อมลพิษ” หรือ PPP (polluter pays principle)

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ค่าจอดรถริมถนนเริ่มเก็บปี 2564

เรื่องเดียวกันนี้ “โอฬาร อัศวพลังกูล” ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมถึงแนวทางเพิ่มรายได้ กทม.ตามแนวนโยบายผู้ว่าฯชัชชาติ ว่า แนวทางการจัดเก็บและเพิ่มเพดานภาษีโดยจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.กทม.เพื่อเพิ่มอำนาจจัดเก็บนั้น เป็นข้อเสนอจากสำนักการคลังเพื่อให้สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม 3 รายการ คือ ภาษีน้ำมัน, ภาษียาสูบ, ค่าธรรมเนียมโรงแรม

ส่วนอีก 2 รายการ “ค่าจอดรถริมถนน-ภาษีผู้ก่อมลพิษ” เป็นนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติโดยตรง

ในกรณี “ค่าจอดรถริมถนน” ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีการจัดเก็บโดยใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบที่จอดรถปี 2564 ออกตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2562 มีเจ้าภาพคือ “งานบริการที่จอดรถยนต์ กองรายได้” เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ

ทั้งนี้ มีการกำหนดอัตราค่าจอดรถและถนนที่จะมีการเก็บค่าจอดรถไว้ โดยอัตราค่าจอดรถแบ่งเป็นขั้นบันได คือ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไปจัดเก็บชั่วโมงละ 30 บาท โดยมีการประกาศถนนที่จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถจำนวน 66 ถนนด้วยกัน

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กทม.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถริมถนนได้ทั้งสิ้น 22 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บ “ถนนราชดำริ” ตั้งแต่แยกสารสิน ถึงบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 มีรายได้จัดเก็บมากกว่า 12 ล้านบาท

จำนวน 66 ถนน มีประเด็นที่ทางพันธมิตรภาครัฐคือหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจนครบาลขอให้ไม่จัดเก็บ เพราะเป็นพื้นที่มีปัญหาการจราจรแออัดคับคั่ง จำนวน 14 ถนน ทำให้รายได้จัดเก็บจริงมาจาก 52 ถนนเท่านั้น

ตร.ภาษี กทม.

“ประเด็นค่าจอดรถริมถนน ไม่ได้กำหนดเพดานอัตราจัดเก็บ และไม่ได้ควบคุมถนนที่ห้ามจัดเก็บ ดังนั้นหาก ผู้ว่าฯ กทม.ต้องการเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ สามารถแก้ไขข้อบัญญัติ กทม.ได้เลย ตามขั้นตอนให้ขออนุมัติจากสภา กทม.จึงจะสามารถจัดเก็บได้”

ส่วน “ภาษีผู้ก่อมลพิษ” เจ้าภาพคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษี ในอนาคตจะเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมตัวใหม่ของประเทศไทย ซึ่งกฎหมายมีกำหนดผู้ที่ต้องชำระภาษีสิ่งแวดล้อม อัตราภาษี อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึง กทม.ด้วย

ค่าที่จอดรถ-มีอีก 1,000 ถนน

ด้าน “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิธีการสร้างรายได้เพิ่มให้กับ กทม.นั้น บางรายการต้องแก้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ บางรายการแก้กฎหมายระดับรอง เช่น ข้อบัญญัติ กทม.

ต่อศักดิ์ โชติมงคล
ต่อศักดิ์ โชติมงคล

สำหรับค่าจอดรถริมถนน คณะทำงานกำลังเร่งหานวัตกรรมจัดเก็บมาทดแทนการใช้พนักงานเดินเก็บ ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า ที่สำคัญมีใบเสร็จรับเงินเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะนี้ มอบหมายให้ “สจส.-สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.” เป็นผู้รับผิดชอบจัดหานวัตกรรมใหม่

ในอนาคต เมื่อมีเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพพร้อมแล้ว เฟสต่อไป กทม.จะเพิ่มถนนที่จะจัดเก็บค่าจอดรถ จากปัจจุบันมีประกาศแล้ว 66 ถนน ในอนาคตจะต้องมีการขยายถนนเพิ่มเติม โดยถนนที่จะศึกษาการจัดเก็บเพิ่มเติมนั้นมีถนนเป้าหมายในการศึกษาอยู่เกือบ 1,000 ถนน

“อยากจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า การดำเนินการจัดเก็บค่าจอดรถริมทาง รายได้จากการจัดเก็บไม่ใช่เป้าหมายของ กทม. แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดระเบียบถนนหนทาง แก้ปัญหาการใช้ถนนหนทางเสมือนที่จอดรถส่วนบุคคล”

เป้าหมายเพื่อ 1.แก้ปัญหารถติด 2.ให้เกิดการหมุนเวียนที่จอดรถกระตุ้นเศรษฐกิจริมทาง และ 3.หากสามารถหาแนวทางอื่นในการจัดระเบียบ ทดแทนการเก็บค่าที่จอดรถริมถนนได้ กทม.ก็พร้อมพิจารณา