กทม. ทบทวน 3 โปรเจ็กต์ขนส่งมวลชน BRT-เดินเรือ 2 สาย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กทม. ทบทวนความคุ้มค่า 3 โปรเจ็กต์ระบบขนส่งมวลชน ผวา ! การดำเนินการเฟส 2 หลังพบต้นทุนเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมพุ่ง 170 บาทต่อคนต่อเที่ยว

วันที่ 3 มกราคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงกรณีการเดินเรือโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร ว่า

สำหรับโครงการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมนั้น จะต้องใช้ข้อมูลเป็นตัวนำ โดยการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมนั้นใช้งบประมาณต่อเดือนเฉลี่ยเดือนละ 2.4 ล้านบาท โดยมีผู้โดยสารประมาณ 1.4 หมื่นคนต่อเที่ยวต่อเดือน ซึ่งหากคิดต้นทุนการเดินเรือต่อเที่ยวต่อคนแล้วจะเฉลี่ยคนละ 170 บาทซึ่งสูงมาก จึงได้มีการทบทวนแนวทางการดำเนินการโครงการต่อไป

เพราะการดำเนินการโครงการของ กทม. จะต้องคำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก ไม่ใช่ทำตามแผนงานที่เสนอมาโดยไม่มีการประเมินผล

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร 3 โครงการ จะมีการทบทวนถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการ โดย 3 โครงการนี้ ประกอบด้วย

  1. โครงการเดินเรือโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งมีวงเงินงบประมาณ 140 ล้านบาท ระยะเวลา 51 เดือน หรือเกือบ 5 ปี ซึ่งเมื่อนำตัวเลขมาคำนวนความคุ้มค่าก็จะได้ตามที่ท่านผุ้ว่าได้กล่าวไป โดยการทบทวนความเหมาะสมโครงการนั้นจะประกอบไปด้วย การทบทวนในการจัดหาเอกชนมาเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมแทน หรือหากไม่มีเอกชนรายใดสนใจ จะต้องมีการทบทวนในเรื่องเส้นทางการเดินเรือ ความถี่การเดินเรือ เป็นต้น และนอกเหนือจากต้นทุนค่าเดินเรือแล้ว เนื่องจากเรือชุกดปัจจุบันมีการใช้งานมากว่า 3 ปีจะต้องมีการซ่อมแซมด้วย
  2. โครงการเดินเรือในคลองแสนแสบ ส่วนต่อขยาย สำหรับโครงการนี้จะหมดสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 400 คนต่อวัน หรือ 2 หมื่นคนต่อเดือน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปีงบประมาณ 128 ล้านบาท จะต้องมีการทบทวนในเรื่องรูปแบบเช่นเดียวกับโครงการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม
  3. โครงการ BRT ซึ่งสัญญาปัจจุบันจะหมดลงในช่วงเดือนสิงหาคม จากการร่วมหารือกับเอกชนรายเดิมหรือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่า ทางเอกชนแจ้งว่าไม่สามารถแบกรับผลขาดทุนตามสัญญาเดิมคือการเดินรถแลกกับสิทธิในค่าโดยสารและค่าโฆษณาได้อีกต่อไป

จึงได้มีการสำรวจต้นทุนในส่วนที่ทำให้ต้นทุนสูง ปรากฏว่าการบำรุงรักษาบริเวณสถานีและระบบตั๋วโดยสารนั้นเป็นส่วนที่ต้นทุนสูงมาก ซึ่งปัจจุบันได้ขอให้ทางเอกชนเดิม พิจารณาหากจะเดินรถโดยมีการปรับปรุงแผนการบำรุงรักษาสถานีและการออกตั๋วโดยสารใหม่ ซึ่งหากเอกชนยังไม่สนใจ จะดำเนินการหาเอกชนรายอื่นมาเดินรถ หรือ กทม. อาจจะดำเนินการเองในรูปแบบการจ้างเดินรถ โดยปัจจุบัน BRT มีผู้โดเยสารเฉลี่ยวันละ 8 พันคน โดยในช่วงก่อนโควิดมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.6 หมื่นคนต่อวัน