ชัชชาติหารือกรมควบคุมมลพิษ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จับตา 27 ม.ค.นี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ หารืออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เร่งแก้ปัญหาแหล่งเกิดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เปิด Traffy Fondue สู้รถควันดำ เตือน 27 ม.ค. อากาศนิ่ง สถานการณ์ฝุ่นพิษรุนแรงขึ้น

วันที่ 24 มกราคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมหารือกับนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ถึงสถานการณ์ PM 2.5 ที่มีความรุนแรงขึ้น

โดยในช่วงแรกนายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้บรรยายถึงสาเหตุของค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ว่า

วัฏจักรของการเกิดฝุ่น ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับมาตรฐานก็เนื่องมาจากฝุ่นสามารถลอยตัวขึ้นด้านบนได้ ประกอบกับมีลมมาช่วยพัดพาฝุ่นออกจากพื้นที่

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยานะหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2566 จะช่วยทำความเข้าใจได้ว่า ทำไมค่าฝุ่นถึงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

โดยในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ชั้นล่างสุดของบรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ คือระดับของเพดานห้อง แต่เป็นห้องที่เรียกว่า กรุงเทพฯ หรือประเทศไทย และเปรียบเทียบค่าฝุ่นเป็นควันไฟ ในห้องเพดานต่ำกับห้องเพดานสูงเราจะสำลักควันไฟใยห้องเพดานต่ำก่อน ในกรณีความหนาแน่นของ PM 2.5 ก็คล้ายกัน

ซึ่งวันดังกล่าวเพดานห้องส่วนนี้มีความสูงต่ำกว่า 500 เมตร เทียบกับในฤดูร้อนที่ส่วนนี้จะสูงถึง 1,500 ถึง 2,000 เมตรลดลง 3-4 เท่า

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาจะเห็นได้ว่าในวันนี้ช่วงเย็น และวันที่ 25-26 เพดานห้องจะเริ่มขยับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าฝุ่นเริ่มลดลง ก่อนวันที่ 27 ม.ค. สถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงอีกครั้ง

และในอีกหนึ่งปัจจัยคือลมที่จะพัดพาฝุ่นออกจากพื้นที่ซึ่งในวันที่ 22-24 มกราคม 2566 ลมค่อนข้างนิ่ง ในช่วงเย็นวันนี้จะเริ่มมีลมพัดแรงขึ้นซึ่งจะช่วยมีส่วนในการลดความหนาแน่นของ PM 2.5 โดยการพัดออกจากพื้นที่ซึ่งเย็นวันที่ 24-26 มกราคม 2566 จากข้อมูลลมจะพัดแรงขึ้นก่อนวันที่ 27 มกราคม 2566 จะกลับมานิ่งอีกครั้ง

27 ม.ค. นี้คนกรุงเตรียมรับมือ PM 2.5

พร้อมกับระบุว่า จากข้อมูลตรงนี้เราสามารถอธิบายถึงสาเหตุที่ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นและพยากรณ์ได้ว่าในวันที่ 27 นี้มีโอกาสที่ค่าฝุ่นจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง และเป็นการอธิบายว่า รถยนต์เท่าเดิม โรงงานเท่าเดิม ทำไมค่าฝุ่นถึงไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่าปัญหาที่สำคัญของต้นทางฝุ่นจิ๋วหนือ PM 2.5 นั้นก็มีการพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีผลมากถึง 10% แต่ก็ต้องควบคุม ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการเผาบริเวณปริมณฑลรอบ ๆ กทม. ซึ่งได้มีการส่งหนังสือขอความร่วมมือในการควบคุมดูแลแล้ว และสำหรับพื้นที่ กทม. หากมีการเผาเกิดขึ้นจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เช้าไปติดตามทันที

นายชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า เรื่องการดูแลรถในพื้นที่ กทม. ทางกรมควบคุมมลพิษและกรมการขนส่งทางบกได้ร่วมกับ กทม. ในการกำกับดูแล โดยเฉพาะการปรับมาตรฐานของน้ำมันให้เป็น UERO 5 ในเดือนมกราคม 2567 ของกรมควบคุมมลพิษ

สำหรับ กทม.เองก็มีการเพิ่มจุดตรวจสอบรถยนต์และมีการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดอื่น เช่น โรงงานอย่างต่อเนื่อง

แจ้งรถควันดำผ่าน Traffy Fondue

ต่อจากนี้หากประชาชนพบเห็นรถควันดำ การลักลอบเผาสามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น Traffy Fondue ซึ่งจะมีการประสานในการเข้าไปตรวจสอบ

และในช่วงที่มีการพยากรณ์ว่าระดับค่าฝุ่นจะสูง ก็จะมีการขอความร่วมมือทั้งการใช้รถสาธารณะ การ Work From Home การหยุดการก่อสร้างต่าง ๆ ชั่วคราวจากภาคเอกชน โดยไม่ใช่การบังคับ

การป้องกันตนเองผ่านหน้ากากทั้งประเภท N95 และหน้ากากอนามัยที่เราใส่จากสถานการณ์โควิด ซึ่งการใส่ถูกต้องจะลดความรุนแรงลงได้กว่า 60%

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ทส.มุ่งลดการเผาชีวมวล

นายปิ่นสักก์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เรื่องค่าฝุ่นเป็นปัญหาที่รุนแรง ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงพยายามลดสาเหตุการเกิดฝุ่นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยการลดจุดเผาในต่างประเทศ ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประชุมร่วม 5 ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงโดยมีการกำหนดเป้าหมายให้ลดลงไป 30% จากปีที่ผ่านมา

ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดเป้าหมายให้ลดพื้นที่เผาไป 20% ทางคณะทำงานร่วมามารถลดการเผาในพื้นที่โล่งได้ 23%

สำหรับเรื่องไฟป่าก็พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องโดยการตั้ง war room คู่กับคณะทำงานแต่ละจังหวัด มีโครงการชิงเก็บก่อนเผา และโครงการเผาป่าตามหลักวิชาการก่อนเกิดเหตุ เป็นต้น

ในภาคการเกษตร ทางกรมควบคุมมลพิษได้เน้นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปก่อให้เกิดรายได้ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้อย่างยั่งยืน