เปิดแผนแก้โกง ยุคชัชชาติ TDRI แนะกิโยตินกฎหมาย ใบอนุญาตก่อสร้าง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ เปิดข้อมูลทุจริต กทม. เตรียมดำเนินการแก้โกง เฟส 2 ด้าน TDRI แนะกิโยตินกฎหมายใบอนุญาตก่อสร้างช่วยลดต้นทุนกว่า 1.2 พันล้านต่อปี เสนอนายตรวจเอกชนแบ่งเบางานภาครัฐ 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ภายหลังผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ถูกจับเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา จากกรณีเรียกรับเงินจำนวน 329,000 บาท จากคู่สัญญาที่ชนะการประมูลโครงการจ้างเหมาประกอบอาหารสำหรับนักเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565

ประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริต-คอร์รัปชั่นได้ถูกสอบถามไปยังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง โดยทางนายชัชชาติได้ตอบถึงกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนบางชันว่าจะต้องลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด ซึ่งกรณีการทุจริตเช่นนี้จะต้องดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มีโทษคือไล่ออก

เปิด 9 ช่องเจ้าหน้าที่ กทม. ทุจริต

พร้อมกันนี้ นายชัชชาติยังได้เปิดข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในการทุจริตที่พบการร้องเรียนบ่อยด้วยว่ามี 9 ประเภท คือ

  1. การจัดซื้อจัดจ้าง
  2. การเรียกรับผลประโยชน์
  3. ยักยอกเงินการเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ
  4. นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว
  5. เบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว
  6. จัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานที่เข้าข่ายการทุจริต
  7. การจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต
  8. การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาที่เข้าข่ายการทุจริต
  9. การแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย

4 สายงานเสี่ยงทุจริต โยธา-เทศกิจ

โดยมี 4 ลำดับหน่วยงานที่พบว่ามีความเสี่ยงจากการทุจริต ได้แก่

  1. สายงานโยธา จากการขอใบอนุญาตต่าง ๆ
  2. สายงานเทศกิจ จากการเรียกรับเงินจากผู้ทำผิดกฎหมาย
  3. สายงานรายได้ จากการยักยอกเงิน หรือประเมินฐานภาษีต่ำกว่าที่ควร
  4. สายงานสิ่งแวดล้อม จากการขออนุญาต EIA และจากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

แผนแก้ทุจริต 2 เฟส

สำหรับในการพยายามแก้ปัญหาแล้วในเฟสแรก คือ

  1. การเพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐผ่าน Traffy Fondue
  2. การใช้ Open Data ที่เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
  3. ใบอนุญาตออนไลน์ซึ่งมีการเริ่มเปิดใช้แล้ว แต่ว่ายังมีผู้ใช้น้อย จะต้องพยายามเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการผ่านช่องทางนี้ให้มากยิ่งขึ้น

ในเฟสต่อไปในการแก้ไขปัญหาการทุจริตนั้น จะต้องมีการเพิ่มมาตการดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มระเบียบกำกับโดยเฉพาะระยะเวลาในการพิจารณาใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของการทุจริต-คอร์รัปชั่นเกิดจากการที่ผู้มีอนาจออกใบอนุญาตดึงเวลาในการอออกใบอนุญาต
  2. ต้องกระตุ้นและเพิ่มสัดส่วนการออกใบอนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ในขณะนี้มีการกำหนดมาตรฐานด้านระยะเวลาในการพิจารณา พร้อมทั้งผู้พิจารณาจะต้องให้เหตุผลในการไม่อนุญาตหากมีประกอบด้วยทุกครั้ง

“นอกจากนี้ขอยืนยันว่าได้เน้นย้ำไปตั้งแต่ระดับผู้บริหารว่าการทุจริตเรียกรับเงินต้องไม่มี โดยเฉพาะเงินที่ใช้ในการซื้อ-ขายตำแหน่ง” นายชัชชาติกล่าว

“4 ไม่” ปัญหาจากการขอใบอนุญาต

นอกจากนี้หนึ่งในองค์กรที่ถูกจับตาคือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่มีการร่วมหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในช่วงแรก ๆ ของการรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ซึ่งนายชัชาติได้เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้จัดทำข้อเสนอในเรื่อง “กิโยตินกฎระเบียบเพิ่มความโปร่งใส : ใบอนุญาตก่อสร้าง กทม.”

ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการขออนุญาตของ กทม. ประกอบด้วย  “4 ไม่” ประกอบด้วย

  1. ไม่เร็ว คือ การขออนุญาตใช้เวลานาน
  2. ไม่ชัด คือ กฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ
  3. ไม่เชื่อม คือ เอกสารและข้อมูลไม่เชื่อมกัน
  4. ไม่ทันสมัย การยื่นเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ยังไม่สะดวก และเจ้าหน้าที่เน้นการพิจารณาบนกระดาษ

9 ข้อเสนอ กิโยตินกฎหมาย ปลดล็อกใบอนุญาต

โดยทาง TDRI ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังต่อไปนี้

  1. พัฒนามาตรฐานการให้ข้อมูลออนไลน์และคู่มือสำหรับประชาชนและเจ้าหน้าทื่ โดยให้ทุกเขตมี Checklist เอกสารและขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และกรุงเทพมหานครมีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนเพื่อขออนุญาตและสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อประกอบการให้คำแนะนำ
  2. เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมที่ดินในการคัดสำเนาโฉนดเพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้าง และสภาสถาปนิกและสภาวิศวกรในการเชื่อมโยงใบรับรอง
  3. จัดทำฐานข้อมูลกลางของกรุงเทพมหานครที่สามารถใช้อ้างอิงได้ เช่น ขนาดถนน และแหล่งน้ำ และจะต้องแก้ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้ข้อมูลการรังวัดของหน่วยงานรัฐแทนสภาพจริงเพื่อลดภาระให้ภาคเอกชน
  4. ส่งเสริมให้เกิดการยื่นใบอนุญาตออนไลน์ โดยให้มีเว็บไซต์กลางเพียงเว็บไซต์เดียว
  5. ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณา โดยให้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
  6. แก้ไขกฎหมายให้อ้างอิงมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานวิชาชีพ
  7. กำหนดให้มีนายตรวจเอกชนที่ลงทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร เป็นทางเลือกในการอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยต้องมีการเสนอแก้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เนื่องจากปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงพอ
  8. เกณฑ์ระยะเวลาในการอนุญาตให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงอาคาร
  9. การตรวจสอบระหว่างก่อสร้างอาคารตามระดับความเสี่ยง คือในขั้นตอนที่มีความเสี่งสูง เช่น วางผังอาคาร, ลงเสาเข็ม จะต้องมีการกำหนดจำนวนครั้งในการตรวจสอบอาคาร

เผยช่วยประหยัดต้นทุนการขอใบอนุญาต 1.2 พันล้านบาท

ในช่วงสรุปผลของข้อเสนอ TDRI ในครั้งนี้กล่าวว่า สำหรับอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตรจะสามารถประหยัดได้กว่า 32% ของการดำเนินการรูปแบบเดิม และสำหรับอาคารที่มีพื้นที่มใช้สอย 5,000 ตารางเมตรจะสามารถุประหยัดได้ 94% ของการดำเนินการรูปแบบเดิม

และในปี 2565 กรุงเทพมหานครมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างจตำนวน 16,314 ฉบับ โดยแบ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ 80% และอาคารขนาดเล็ก 20% จะสามารถประหยัดต้นทุนในการขอใขอนุญาตก่อสร้างหากดำเนินการตามข้อเสนอได้กว่า 1,252 ล้านบาท

และทาง TDRI ยังเปิดเผยอีกว่า จากผลสำรวจของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ นั้นพบว่า “ค่าเร่งเวลาออกใบอนุญาต” คิดเป็น 80% ของค่าดำเนินการในการออกใบอนุญาต