ชัชชาติ ยันเอาจริงกับการทุจริต อ้อนประชาชนร่วมส่งเบาะแส

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
แฟ้มภาพ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะวางนโยบายต้านทุจริต อ้อนประชาชนร่วมส่งเบาะแส หากพบทุจริตแบบสมยอมพร้อมฟันโทษอาญาทั้งคู่

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ว่า

สำหรับการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการจัดตั้งตั้งแต่ปี 2558 โดยมีบทบาทในการวางนโยบายเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

และได้มีคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงปฏิบัติการในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของกรุงเทพมหานครนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น มีการดำเนินการในส่วนของนโยบาย Open Bangkok ที่เปิดเผยข้อมูลของกรุงเทพมหานคร

และส่วนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริตในกรุงเทพมหานคร ผ่าน Traffy Fondue ซึ่งมีช่องทางเฉพาะในการแจ้งเบาะแส

สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกรุงเทพมหานครนั้น มีที่บ่อยอยู่ 9 ประเภทคือ

การจัดซื้อจัดจ้าง, เรียกรับผลประโยชน์, ยักยอกเงินการเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ, นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว, เบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว, จัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงาน ที่เข้าข่ายการทุจริต, การจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต, การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาเข้าข่ายการทุจริต, การแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย และกรณีทุจริตอื่น ๆ

และมีหน่วยงานที่พบการทุจริตบ่อยอยู่ 4 สายงานคือ สายงานโยธา สายงานเทศกิจ สายงานรายได้ สายงานสิ่งแวดล้อม

และอีกหนึ่งกรณีที่จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด คือการที่ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ขอเตือนไปยังการทุจริตเช่นนี้ว่า หากสามารถตรวจพบจะมีการดำเนินคดีทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายบุคลากรของกรุงเทพมหานครจะมีการพิจารณาโทษทางวินัยอย่างเข้มงวด

และในส่วนคดีอาญาจะมีการนำส่งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากศูนย์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับ TDRI และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในการจัดทำข้อเสนอกิโยตินกฎหมาย

เป็นการปลดล็อกกฎหมายเพื่อช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ