รวมเงินทุกกองทุนสำหรับคนแก่ หลังเกษียณ ใช้เงินจากที่ไหนได้บ้าง

กองทุนคนแก่
ภาพจาก PIXABAY

เงินกองทุนสำหรับคนแก่ หลังเกษียณ ใช้เงินจากที่ไหนได้บ้าง วางแผนการออมสำหรับผู้ที่จะก้าวพ้นจากวัยทำงาน

วันที่ 3 เมษายน 2566 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์มาแล้ว 5 ปี ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ว่า สังคมผู้สูงอายุคือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7

ถ้าหากสังคมใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) และหากมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ super-aged society

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว ข้อมูลประจำปี 2561 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 16.06 ในปี 2562 ประชากรผู้สูงอายุมีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน

ความจำเป็นที่ตัวผู้สูงอายุจะต้องเตรียมการรับมือ ทั้งประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชากรที่กำลังจะตามมา การวางแผนจัดการด้านการออมสำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวพ้นจากวัยทำงาน การดำเนินชีวิตหลังวัยเกษียณแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ตัวเองจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระสำหรับตัวเอง ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม ให้น้อยที่สุด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเงินกองทุนสำหรับคนแก่ หลังเกษียณ ว่ามีรายได้จากแหล่งไหนบ้าง

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

สำหรับข้าราชการน่าจะสบายใจเรื่องแหล่งรายได้หลังเกษียณ เพราะถ้ามีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป จะเลือกได้เลยว่าจะรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ โดยมีสูตรคำนวณต่างกันระหว่างข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กับข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.

สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จ หรือบำนาญ   ระบบบำเหน็จ บำนาญ ระบบ กบข. จะได้รับเงิน 2 ส่วน
บำเหน็จ 1.เวลาราชการไม่ถึง 10 ปี บริบูรณ์

(กรณีให้ออกด้วยเหตุทดแทน ทุพพลภาพ เกษียณอายุ หรือ ลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปี บริบูรณ์)

2. เวลาราชการครบ 10 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 25 ปี บริบูรณ์

3.มีสิทธิ์ได้บำนาญ แต่ขอรับบำเหน็จแทน

เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ เวลาราชการ

 

1.เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณ เวลาราชการ

2.เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว

บำนาญ 1.เวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ออกโดยไม่มีความผิด,เกษียณอายุ ทุพพลภาพ เวลาราชการครบ 30 ปี บริบูรณ์ หรือ ลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์)

2.ลาออกจากราชการเมื่อมีเวลาราชการครบ 25 ปีบริบูรณ์

เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ เวลาราชการหารด้วย 50 1.เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน สุดท้าย คูณ เวลาราชการ หารด้วย 50 (แต่ไม่เกิน 70 % ของเงินเดือนเฉลี่ย)

2. เงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย เงินประเดิม (ถ้ามี) และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว

เงินบำเหน็จดำรงชีพ

สำหรับข้าราชการบำนาญจะมีสิทธิได้รับเงินก้อนหนึ่งที่เรียกว่า “บำเหน็จดำรงชีพ” อีก 15 เท่าของบำนาญรายเดือน แต่รวมแล้วไม่เกิน 400,000 บาท โดยที่เงินก้อนนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตัวอย่างเช่น หากคูณออกมาแล้วได้เกิน 200,000 บาท กรมบัญชีกลางจะแบ่งจ่าย 2 ครั้ง โดย 200,000 บาทแรก จะจ่ายในปีที่เกษียณ และส่วนที่เกิน 200,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 400,000 บาท จะจ่ายอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์

เงินกองทุนชราภาพจากประกันสังคม

พนักงานประจำ หรือมนุษย์เงินเดือน มีข้อกำหนดว่า ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 และมาตรา 39 สูงสุดอยู่ที่เดือนละ 750 บาท ซึ่งเงินที่จ่ายไปทุกเดือนไม่ได้สูญเปล่า

โดยได้รับคืนกลับมาในรูปของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากประกันสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าสงเคราะห์บุตรรายเดือน และอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับคือ เงินชราภาพ โดยจะได้รับเมื่อเกษียณอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมแล้ว

เงินชราภาพที่ได้รับ จะอยู่ในรูปของบำเหน็จเงินก้อน หรือบำนาญรายเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ ถ้าจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือไม่ถึง 15 ปี จะได้รับเป็นบำเหน็จเงินก้อน แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต

ยกตัวอย่าง เงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับจากประกันสังคมตามจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ

จำนวนเดือนจ่ายเงินสมทบ (ต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้) เงินบำนาญ จากประกันสังคม*
180 เดือน (15 ปี) 3,000 บาทต่อเดือน
240 เดือน (20 ปี) 4,125 บาทต่อเดือน
300 เดือน (25 ปี) 5,250 บาทต่อเดือน
360 เดือน (30 ปี) 6,750 บาทต่อเดือน

 

*คำนวณจากฐานเงินสมทบของประกันสังคม ไม่เกิน 15,000 บาท สูตรคำนวณเงินบำนาญกรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย กรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ได้รับเพิ่ม 1.5% ต่อระยะเวลาจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

จากตัวอย่างการคำนวณเงินบำนาญจากประกันสังคม กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 15 ปี อัตราบำนาญอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ดังนั้น ได้รับเงินบำนาญเดือนละ 20% x 15,000 = 3,000 บาท กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 20 ปี อัตราบำนาญจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อัตราบำนาญ 15 ปีแรก เท่ากับ 20% และ 5 ปีหลัง เท่ากับ 1.5% x 5 = 7.5% รวมอัตราบำนาญ 20 ปี เท่ากับ 20% + 7.5% = 27.5% ดังนั้น เงินบำนาญรายเดือนจะอยู่ที่ 15,000 x 27.5% = 4,125 บาทต่อเดือน หรือถ้าคิดเป็นต่อปี ก็เกือบ ๆ 5 หมื่นบาท

กองทุนคนแก่
ภาพจาก PIXABAY

เงินจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

สำหรับคนที่ไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญ เช่น พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระก็สามารถมีเงินบำนาญไว้ใช้ในวัยเกษียณได้ โดยการเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งสามารถส่งเงินสะสมครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 บาท และรวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี

โดยไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และจำนวนเงินไม่ต้องเท่ากันทุกครั้งก็ได้ จากนั้นรัฐบาลจะให้เงินสมทบตามสัดส่วนเงินและช่วงอายุ ดังนี้

อายุ อัตราเงินสมทบจากรัฐบาล
15 – 30 ปี 50 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
30 – 50 ปี 80 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
   50 ปี 100 % ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

เงินชดเชยจะคิดตามระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างและเงินเดือนสุดท้าย โดยจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ หมดสัญญาจ้าง ถูกเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด

อายุงาน (ต่อเนื่อง) เงินชดเชย
120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี 30 วัน
1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี 90 วัน
3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี 180 วัน
6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี 240 วัน
10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี 300 วัน
20 ปีขึ้นไป 400 วัน

 

ยกตัวอย่าง เงินเดือนสุดท้าย 90,000 บาท ทำงานกับนายจ้างรายล่าสุดก่อนเกษียณเป็นระยะเวลา 20 ปี เมื่อเกษียณอายุ จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน คิดเป็นเงินประมาณ 90,000 x 400/30 = 1,200,000 บาท ทั้งนี้ จำนวนเงินชดเชยในตัวอย่าง เป็นการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการคำนวณเงินชดเชยจะนับตามจำนวนวันย้อนหลังจากวันที่เกษียณหรือออกจากงาน

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เมื่ออายุ 60 ปี มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพคือ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยเบี้ยยังชีพที่ได้รับจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ

อายุ เบี้ยยังชีพ
60 – 69 ปี 600 บาทต่อเดือน
70 – 79 ปี 700 บาทต่อเดือน
80 – 89 ปี 800 บาทต่อเดือน
90 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อเดือน

 

เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินชราภาพภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสิทธิที่ผู้เกษียณอายุมีสิทธิได้รับ อย่างไรก็ตาม อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ เพราะหลังเกษียณก็คงอยากใช้ชีวิตสบาย ๆ เช่น มีเงินไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามต้องการ

ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องวางแผนเก็บเงินเพิ่มเติมให้พร้อมก่อนเกษียณ เช่น สะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตั้งแต่เริ่มทำงาน

รวมทั้งการลงทุนเพิ่มในกองทุนที่สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีด้วย กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการขาดรายได้ประจำด้วยประกันแบบบำนาญเพิ่มเติม จะได้เพิ่มเติมเงินเก็บเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข

ข้อมูลบางส่วน : Set investnow