ต่างชาติผวาขึ้นค่าแรง 450 ธุรกิจพักยก-กระทบลงทุน FDI

ค่าแรง เศรษฐกิจ แรงงาน ก่อสร้าง
Photo by Christophe ARCHAMBAULT / AFP

ธุรกิจไทย-เทศเข้าโหมด “เซฟตี้” WAIT&SEE การลงทุน รอดูความชัดเจนนโยบายรัฐบาลใหม่ กังวลปัจจัย “ความไม่แน่นอน” มากมาย ทั้งการปรับเปลี่ยนกฎกติกาทางธุรกิจ-สัญญาต่าง ๆ ประธานสภาองค์การนายจ้างฯเผยต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมจับตานโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท หวั่นต้นทุนดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ผลักให้นักลงทุนหนีย้ายฐาน สอดคล้องสภาพัฒน์หวั่นกระทบการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ “บีโอไอ” ชี้แจงนักลงทุนสร้างความเชื่อมั่น นิคมฯโรจนะยันธุรกิจลงทุนต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มีการเจรจาตกลงความร่วมมือ กับ 9 พรรคการเมือง จัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง หนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยทุกพรรคจะร่วมกันทำ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงการทำงานร่วมกัน โดยจะมีการลงนาม MOU แถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พ.ค. 66 นี้

ต่างชาติจับตานโยบายขึ้นค่าแรง

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเผยว่า จากที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันนั้น ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าจะมีแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงอย่างไร ยอมรับว่ากังวลถ้าเกิดขึ้นเร็ว หากปรับขึ้นค่าแรงภายในไม่กี่เดือน เชื่อว่ากระทบหลายด้าน จึงต้องมองความเหมาะสม และจังหวะเวลาด้วย เพื่อให้นายจ้างเตรียมตัว และเตรียมการได้ทัน โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้

“ถ้าขึ้นค่าแรงทันทีค่อนข้างลำบาก จะเดือดร้อนผู้ประกอบการทุกที่และทุกขนาด รวมถึงพอต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ก็จะไปกระทบการขึ้นราคาสินค้า”

นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้นักลงทุนต่างประเทศก็เริ่มกังวล เช่น ธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยเริ่มมีการพูดถึงว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มสูงขนาดนี้ จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด

ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะต้องคิดกันใหม่ว่า จะมาที่เมืองไทยหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น ๆ ซึ่งในอาเซียนที่ดูจะเป็นคู่แข่งแย่งผู้ประกอบการต่างชาติจากไทยไปได้ก็จะเป็นอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นไปลงทุนกันเยอะ

Advertisment

ขณะที่ธุรกิจ SMEs ถ้าปรับขึ้นทันทีต้องดูว่า เขาสามารถรับได้หรือไม่ มีเงินจ่ายมั้ย ดังนั้นควรดูว่าเป็นไปได้ หากปรับขึ้นทีเดียว 30-40% ก็น่าเป็นห่วง คงต้องดูเรื่องระยะเวลา ทยอยปรับด้วยตัวเลขที่เหมาะสม

นักลงทุนกังวลความไม่แน่นอน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงหลังเลือกตั้ง นักลงทุนต่างชาติสอบถามเข้ามามาก กรณีหากมีรัฐบาลใหม่ ว่ากฎเกณฑ์การคิดค่าไฟจะเปลี่ยนหรือไม่ สัญญาโรงไฟฟ้าที่ทำไว้แล้วมีโอกาสจะเปลี่ยนหรือไม่ หรือหากมีการปรับสูตรราคาพลังงาน สูตรค่าแก๊สต่าง ๆ ใครจะได้ ใครจะเสีย แนวโน้มกำไรโรงไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร

Advertisment

“สังเกตได้ว่าพอเป็นภาวะแบบนี้ มีทั้งความไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างกังวล และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อนการเลือกตั้ง นักลงทุนต่างประเทศมีการขายสุทธิหุ้นไทยมาตลอด เพราะความไม่แน่นอนพวกนี้”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติจะกังวล 2-3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอน ที่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่พอสมควร แม้จะเลือกตั้งเสร็จแล้ว แต่ยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผล หลังจากนั้นต้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก

“กกต.กว่าจะประกาศผลก็ตั้ง 60วัน แสดงว่าเราจะไม่มีรัฐบาลใหม่ไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน ถึงแม้จะมีการจัดพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็มีความไม่แน่นอนจากการโหวตของ ส.ว.อีก ประเด็นเหล่านี้ทำให้นักลงทุนใจตุ๊ม ๆ ต๊อม ๆ ต้องยอมรับว่าต่างชาติลงทุน ก็อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบาย กับกำไรของบริษัท ภาพที่เห็นในตลาดหุ้น 2-3 วันที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า เวลาเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เปลี่ยนนโยบายของพรรคหลัก ส่งผลกับการลงทุนได้พอสมควร” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ธุรกิจเข้าโหมดระมัดระวัง

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น ในภาวะที่ยังไม่แน่นอนนี้ ก็มีผลกระทบกับการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงด้วย ซึ่งมี 2-3 เรื่อง ก็คือ 1.เมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ระบบรัฐบาลก็เกียร์ว่าง เพราะทุกคนเป็นเหมือนกับรัฐบาลรักษาการ การตัดสินใจใหญ่ ๆ ก็จะไม่มี ฉะนั้นช่วงนี้ก็เหมือนทุกอย่างหยุดหมด

2.เอกชนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าต้องการจะลงทุน วันนี้รัฐบาลก็ไม่ทำอะไร แล้วยิ่งไม่มีรัฐบาลไปอีก 2 เดือน คนที่กำลังจะลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ก็อาจจะชะลอการตัดสินใจ เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อคนชะลอการตัดสินใจ เศรษฐกิจก็อาจจะได้รับผลกระทบ

3.สูตรการจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนสูง หรือมีความเสี่ยงว่าการเมืองจะวุ่นวาย ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจกังวลมากขึ้น ทั้งนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนเมืองไทย คนไทยที่จะลงทุนกันเอง หรือที่จะบริโภค ซื้อของใหญ่ ๆ ทุกคนก็จะอยู่ในโหมดระมัดระวังกันเพิ่มขึ้น

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า เรื่องการลงทุน ประเด็นนโยบายของรัฐบาลใหม่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เพราะกระทบในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่พลังงาน หรือโรงไฟฟ้า เพราะวันนี้คนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ ว่าถ้าปรับขึ้นแล้วใครจะได้ประโยชน์ เสียประโยชน์บ้าง

ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้อาจทำให้การลงทุนยิ่งชะลอไป ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยมีเพียงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกแผ่ว ส่วนการบริโภคและการลงทุนก็เริ่มเห็นการเติบโตที่ช้าลง

เมื่อรัฐบาลนิ่ง-เอกชนพร้อมลุย

นายประทีป จิตรประทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน หรือสังคมจะโตได้หรือไม่ การเมืองต้องนิ่ง ดังนั้นพอเลือกตั้งเสร็จ ทุกอย่างต้องเคลียร์ให้จบ และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว

สิ่งต่าง ๆ ก็จะเดินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลนิ่งและมีประสิทธิภาพ เดี๋ยวภาคเอกชน การท่องเที่ยว และอื่น ๆ จะปรับตัวได้เอง ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับเรื่องนโยบายค่าแรง 450 บาท ของพรรคก้าวไกล อยากให้ทำในลักษณะแยกกลุ่ม เป็นแรงงานไร้ทักษะ กับมีทักษะออกจากกัน ซึ่งคนงานที่มีฝีมือ ค่าจ้างรายวันเกิน 450 บาทต่อวันได้ แต่แรงงานที่ไม่มีฝีมือ ถ้าจ่าย 450 บาท อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

เช่น งานแม่บ้าน ถ้าจ่ายค่าแรงวันละ 450 บาท นายจ้างอาจจ่ายไม่ไหว หรือพนักงานเสิรฟ์ ถ้าร้านมีพนักงาน 10 คน ต้องจ่ายค่าแรงวันละ 4,500 บาท ร้านอาหารนั้น ๆ ก็อาจอยู่ไม่ได้ จนทำให้ต้องปรับราคาค่าอาหาร หรือลดคนงาน ทำให้คนอาจตกงานเพิ่มขึ้น หรือหางานยากขึ้น ดังนั้นการปรับค่าแรงต้องทำให้ผู้ประกอบการ และลูกจ้างอยู่ร่วมกันได้

สภาพัฒน์ห่วงกระทบ FDI

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ภายใต้นโยบายพรรคการเมืองที่ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะกับภาคธุรกิจ

รวมถึงกระทบต่อการจ้างงานนโยบายที่ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณาผลดีและผลเสีย เพราะอาจจะกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จนอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คาดเดาสถานการณ์ลำบาก อย่างไรก็ดี การอยู่รอดของไทยภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จะต้องทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรงรับแรงกระแทกให้ได้

เช่นเดียวกับ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ของพรรคก้าวไกลว่า รัฐบาลควรมองเรื่องสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

หมายถึงต้องคุมค่าครองชีพไม่ให้ขึ้น ทำให้เงินในกระเป๋าแรงงานเหลือ และไปเพิ่มทักษะความสามารถแต่ละสายงานดีกว่า ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรง เพราะต่อให้ขึ้นค่าแรง แต่ค่าครองชีพยังสูง ก็ไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่ขึ้นค่าแรงจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง เพราะนักลงทุนก็พิจารณาตัวนี้เป็นหลัก

BOI ชี้แจงนักลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นักลงทุนมีคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลใหม่อยู่บ้าง ซึ่งบีโอไอได้ชี้แจงไปว่า ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนมาต่อเนื่องกว่า 50 ปี ทุกรัฐบาลล้วนมีนโยบายต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ หากจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการบ้าง ก็คงจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน

“เราเชื่อมั่นว่า นโยบายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV, BCG, Digital Transformation รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษในภาคต่าง ๆ เช่น EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค จะมีความต่อเนื่อง เท่าที่ดูนโยบายพรรคต่าง ๆ ก็ล้วนสนับสนุนเรื่องเหล่านี้

นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ และยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการประกอบธุรกิจ”

สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของบีโอไอยังดำเนินการตามแผน โดยปลายเดือน มิ.ย. จะไปโรดโชว์ที่จีนอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะไปที่ฝั่งตะวันตกของจีน (นครฉงชิ่งและเฉิงตู)

บี.กริม รอแผนสานต่ออีอีซี

นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนยังรอความชัดเจนในการฟอร์มรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

แต่ถ้าเป็นส่วนของความพร้อมในเรื่องอื่น ๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ส่วนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่รอความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสานต่ออย่างไรเกี่ยวกับโครงการอีอีซี เรื่องของแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ จะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร

สำหรับแผนดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เช่น อีวี ที่ผ่านมาทำได้ดี มีการส่งเสริมจากภาครัฐ ทำให้มีนักลงทุนกลุ่มจีนเข้ามาได้ดี แต่อาจต้องมีการดึงดูดเพิ่มเติมในอุตสาหกรรม S-curve ใหม่ ๆ เข้ามา เช่น data center หรืออื่น ๆ ซึ่งนักลงทุนคงอยากเห็นนโยบายและแรงขับเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานทดแทนได้โดยตรง

ภายใต้เงื่อนไขและเทอมที่ตอบโจทย์ ส่วนการวางหลักเกณฑ์ซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ก็เป็นออปชั่นหนึ่ง แต่ที่เรียลเซ็กเตอร์อยากเห็นคือการเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้า เพราะทำให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยต้นทุนที่สามารถเลือกได้ และมีพลังงานสะอาดให้ตอบโจทย์เรื่องของเป้าหมายคาร์บอนต่ำ หรือสังคมคาร์บอนต่ำ

โรจนะ-ธุรกิจเดินหน้าลงทุนต่อ

นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอน และไม่มีกรอบเวลาแน่นอนที่จะได้รัฐบาลใหม่ในฐานะที่บริษัทได้พบปะกับนักลงทุนต่างชาติตลอดเวลา ก็ยังไม่พบว่าลูกค้าและนักลงทุนจะกังวลถึงเรื่องการเมืองของประเทศไทย ในทางกลับกันนักลงทุนให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น และยังไม่มีทีท่าจะชะลอการลงทุน บริษัทที่มีแผนการลงทุนอยู่แล้วยังคงเดินหน้าต่อ