ธุรกิจ-ตลาดหุ้นอึมครึม พรรคขั้วรัฐบาลใหม่ไม่นิ่ง

พิธา

ธุรกิจใหญ่กังวล พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงหลังพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บรรยากาศอึมครึม โบรกฯชี้ตลาดหุ้นซึมต่อ เพราะความ “ไม่แน่นอน-ไม่ชัดเจน” หน้าตารัฐบาล ขณะที่นโยบายเปลี่ยนประเทศบางอย่างอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก

ขณะที่สภาพัฒน์ห่วงความเชื่อมั่นลงทุนภาคเอกชน เตือนดำเนินนโยบายต้อง “รอบคอบ” หวั่นขึ้นค่าแรงส่งผล “ต้นทุนธุรกิจ” กระทบเป็นลูกโซ่ลงทุนต่างชาติหาย จนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สอดคล้อง ส.อ.ท. เรียกร้องรัฐบาลใหม่อย่าใช้วิธีขึ้นค่าแรงแก้ปัญหา ทั้งห่วงจัดตั้งรัฐบาลลากยาวไป 4-6 เดือน กระทบเบิกจ่ายงบฯปี’67

ไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลใหม่

หลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 และรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ของ ส.ส.ระบบเขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.รวม 152 เสียง และพรรคเพื่อไทย ได้ 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง รวมทั้งพรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม พรรคละ 1 เสียง รวมเป็นว่าที่รัฐบาล 310 เสียง

ตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใน 60 วันหลังเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 95% หรือ 475 เสียง ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เพื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภา คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566

แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากสมาชิก 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสมาชิก (ส.ว.) โดยจำนวนผู้โหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียง 2 สภารวมกันไม่น้อยกว่า 376 เสียง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล และจัดโผคณะรัฐมนตรี และทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี ในราวต้นเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เท่า ๆ กับในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2562 คือประมาณ 2 เดือนครึ่งจึงจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่

ขั้วรัฐบาลลุ้นดีล ส.ว. 67 เสียง

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดเวลาว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องเสร็จสิ้นเมื่อไร หากขั้วการเมือง 6 พรรค จำนวน 310 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ ไม่สามารถตกลงกันได้ รวมทั้งไม่สามารถหาจำนวนเสียง จาก ส.ว.ให้ได้อีก 67 เสียง ก็ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

อีกทั้งหากวุฒิสมาชิกไม่ลงมติ หรือ “งดออกเสียง” ก็จะส่งผลให้พรรคก้าวไกลและขั้วพรรคว่าที่รัฐบาลใหม่ ก็ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีเสียงไม่ถึงกึ่งของสมาชิกรัฐสภา ทำให้วาระรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำ ครม.ใหม่เข้าถวายสัตย์ ครม.เก่า และ พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะสิ้นสุดวาระลง จึงต้องติดตามการเจรจาทั้งในทางลับ และการหารืออย่างเป็นทางการ ของแกนนำพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย และการดีลกับ ส.ว. เพื่อให้เกิดการเดินหน้าตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ

เลือกตั้ง “พลิกล็อก” ฉุดหุ้นร่วง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นตอบรับผลการเลือกตั้งในเชิงลบ ก็เพราะว่า ผลที่ออกมาค่อนข้างพลิกล็อก เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดว่าพรรคเพื่อไทยมาแน่ ทำให้หุ้นที่ได้อานิสงส์อิงกับพรรคเพื่อไทย จะปรับตัวขึ้นไปก่อนนี้แล้ว แต่พอผลออกมาเป็นพรรคก้าวไกล นอกจากจะเซอร์ไพรส์ทำให้ราคาหุ้นปรับลงแล้ว ยังมีความกังวลความเสี่ยงทางด้านนโยบาย ที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมถูกตั้งคำถามว่า หากเจอกับนโยบายที่ก้าวหน้ารุนแรงกว่าที่พรรคเพื่อไทยจะทำ อย่างเช่น เรื่องราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สต่าง ๆ รวมถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบแค่ไหน

“เซ็กเตอร์ที่ปรับตัวลง ส่วนใหญ่ก็เป็นพลังงาน กับหุ้นที่อิงการเมือง ก็ต้องกลับไปตั้งคำถามว่า นักลงทุนมีความมั่นใจในรัฐบาลใหม่ขนาดไหน เชื่อใจแค่ไหนว่า รัฐบาลใหม่จะเข้ามาแล้ว ปฏิรูป ทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตได้ หรือทำให้กำไรของบริษัทกลับมาขยายตัวขึ้นได้ ซึ่งจากนโยบายของพรรคก้าวไกลก็ต้องยอมรับว่า ภาคธุรกิจบางส่วนก็จะไม่ชอบ อย่างจะเก็บภาษีธุรกิจใหญ่ เก็บภาษีคนรวยไปช่วยคนจนอะไรแบบนี้ นโยบายหลายอย่างจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งก็ต้องถามว่าเอาเงินจากไหนมาจ่าย ก็อาจต้องขึ้นภาษี ก็จะไปกระทบคนบางส่วน ตรงนี้ก็เป็นต้นทุนทางการเมืองที่ต้องจ่าย ไม่มีของฟรี”

ดร.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ตอนนี้คงต้องติดตามว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือจะออกมารูปแบบใด เพราะยังมีอีกหลายด่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดที่ 1,541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด หรือ -1.28% จากวันก่อนหน้า โดยลงไปทดสอบระดับต่ำสุดที่ 1,536.82 จุด หรือลดลง 24.53 จุด โดยเห็นแรงขายหนัก ๆ ในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และค้าปลีก รวมถึงหุ้นกลุ่มทุนใหญ่และหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เพราะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสถูกกดดันจาก policy risk โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าดิ่งหนัก จากนโยบายที่จะลดค่า Ft และยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย ทั้งอาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบในการทำธุรกิจของกลุ่มโรงไฟฟ้า

ตั้งรัฐบาลใหม่ “ไม่แน่นอน” สูง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของไทยแต่ละครั้ง ภาพตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกหรือลบขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในครั้งนี้ตลาดหุ้นไทยตอบรับเชิงลบเพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาผิดคาด จากพรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุด ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นอะไรที่นักลงทุนกังวลอยู่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะลงตัวได้ดีแค่ไหน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ไปแล้วด้วย หากพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล นโยบายบางอย่างอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก จึงเห็นแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา แม้ว่ายังไม่มีการพูดออกมาชัดเจนก็ตาม

ตอนนี้ตัวแปรสำคัญคือพรรคเพื่อไทยจะร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ ถ้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ก็คงไม่ยาก และสามารถดึงพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมอีกได้ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือพูดคุยกันไม่ลงตัว เนื่องจากรายละเอียดนโยบายต่าง ๆ อาจไม่ได้เหมือนกัน จึงไม่แน่ใจว่าจะต่อรองอะไรกันเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป ก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

“ดังนั้นภาพตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น คงเป็นภาพซึม ๆ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ จนกว่าจะมีความชัดเจน”

สศช.ห่วงความเชื่อมั่นเอกชน

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ช่วงรอจัดตั้งรัฐบาล งบประมาณใหม่คงไม่ได้มีเข้ามา ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ให้ได้ตามเป้าหมาย และรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน สำหรับงบประมาณปี 2567 จะมีความล่าช้าออกไป แต่ไม่น่าจะเกินไตรมาสที่ 1 ปี 2567

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การส่งออก จะต้องเร่งสนับสนุน และปรับโครงสร้างภาคการส่งออก และภาคเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

และ 2.ปัญหาปากท้องของประชาชน แม้ว่าระดับการบริโภคจะขยายตัวได้ดี แต่ยังคงมีเรื่องของราคาไฟฟ้าที่สูง แม้ว่าแนวโน้มราคาจะปรับลดลงตามราคา LNG แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูนโยบายรัฐบาลในการดูแลราคาพลังงานว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างไร

ส่วนจะมีการปรับหรือรื้องบประมาณหรือไม่นั้น เลขาฯ สศช.กล่าวว่า รัฐบาลใหม่สามารถทำได้หลายแบบ แต่จะมีอยู่ 2 ทาง คือ 1.ปรับเล็ก เป็นการปรับไส้ใน และ 2.ทำใหม่เลย จะต้องมีการประมาณรายได้และรายจ่าย รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากดูพิจารณาคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดของงบประมาณด้วย

ห่วงนโยบายกระทบต้นทุนธุรกิจ

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนภายใต้นโยบายพรรคการเมืองที่มีการสนับสนุนให้ต้นทุนของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบางเรื่องส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงาน

ดังนั้นนโยบายที่ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณาผลดีและผลเสีย เพราะส่วนหนึ่งอาจจะกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จนอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ จึงต้องทำให้รอบคอบ

“ในช่วงที่เกิดวิกฤตเราไม่ได้สนใจเรื่องวินัยการเงินการคลัง ก็อัดเม็ดเงินเข้าไป แต่วันนี้เราพ้นวิกฤตแล้ว ต้องกลับมารักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยคนในหลายกลุ่ม เช่น สวัสดิการต่าง ๆ จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมให้เกิดรายได้ด้วย ต้องชัดเจนและพุ่งเป้า ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระการคลังระยะยาว ตอนนี้มีแต่คนพูดแต่เรื่องรายจ่าย ไม่มีคนพูดถึงเรื่องรายได้จะมาอย่างไร”

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คาดเดาสถานการณ์ลำบาก อย่างไรก็ดี การอยู่รอดของไทยภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จะต้องทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรงรับแรงกระแทกให้ได้

กังวล “ขึ้นค่าแรง” ลงทุนหาย

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายพรรคก้าวไกลหลังจากชนะการเลือกตั้งว่า มีบางนโยบายที่ตรงกับเอกชน เช่น การลดกฎระเบียบกฎหมาย การแก้ปัญหาราคาพลังงาน แต่นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทนั้น เอกชนมองว่ารัฐควรมองเรื่องสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน หมายถึงต้องคุมค่าครองชีพไม่ให้ขึ้น

ทำให้เงินในกระเป๋าแรงงานเหลือ และไปเพิ่มทักษะความสามารถแต่ละสายงานดีกว่า ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรง เพราะต่อให้ขึ้นค่าแรง แต่ค่าครองชีพยังสูง ก็ไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกันทุกครั้งที่ขึ้นค่าแรงจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง เพราะนักลงทุนก็พิจารณาตัวนี้เป็นหลัก

“จึงมองว่าควรปล่อยให้กลไกตลาด จ่ายค่าแรงตามทักษะ อย่างจีนเขาใช้ automation เข้ามาช่วย ลดต้นทุน ผลิตภาพสูงขึ้น ก็ขึ้นค่าแรงได้ แต่ไทยไม่ใช่ เราคอยแต่จะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าแรงทุกครั้ง แบบนี้รายเล็กจะตาย รายใหญ่หนีไปใช้ automation ลดคน กลายเป็นคนตกงาน”

ส่วนการจัดตั้งรัฐบาล 310 เสียงเพียงพอแล้ว เชื่อว่าเดือน ส.ค.น่าจะเป็นไปได้ แต่หากลากยาวจะสุญญากาศ 4-6 เดือน ก็จะมีผลต่องบประมาณแน่นอน และงบฯปี 2567 จะไม่มีผล และไม่ได้ใช้ตามที่ต้องการ ดังนั้นควรรีบตั้งรัฐบาลและรีบทำงบประมาณปี 2568 ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เร่งมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องสานต่อ

EGCO รอดูนโยบายรัฐบาลใหม่

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจมีผลต่อการปรับลดค่าไฟฟ้านั้น ขณะนี้มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็น ขอดูนโยบายอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทปกติมีการปรับตัวตามสภาวการณ์และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินธุรกิจอยู่เสมอ

ถ้าตามกระบวนการเลือกนายกฯอาจใช้เวลา 2 เดือน อาจจะตั้งได้ในเดือนสิงหาคม หรือกันยายนนั้น มองว่าประเทศไม่มีสุญญากาศทางการเมือง เพราะถึงแม้จะอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังมีรัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการอยู่ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ยังเดินหน้าต่อไปเป็นปกติ

7-11 รัฐบาลใหม่หนุนกำลังซื้อ

ขณะที่ นางจิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน Opportunity Day เมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีนักลงทุนถามว่าการมีรัฐบาลใหม่จะกระทบกับธุรกิจของบริษัทหรือไม่ว่า ในภาพรวมเข้าใจว่า การที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ นโยบายส่วนหนึ่งก็คงจะมุ่งไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการให้สวัสดิการกับประชาชน การปรับค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำ รวมถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งมองว่านโยบายในลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นการจับจ่าย และเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกในภาพธุรกิจของบริษัทและเศรษฐกิจในภาพรวม

หนุนท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เชื่อมั่นว่าพรรคไหนก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล รู้อยู่แล้วว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดี และเห็นเงินได้เร็วที่สุด ดังนั้นในเชิงนโยบายจึงไม่มีอะไรน่ากังวลมากนัก ส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องวิธีการ หรือ implement มากกว่า

“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครหรือพรรคไหนจะมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตอนนี้เลยยังมองและเดาไม่ออกจริง ๆ ว่าทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวจะไปอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

สัญญาซื้อขายไฟแก้ได้

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายด้านพลังงานของพรรคก้าวไกลที่ประกาศจะปรับโครงสร้างพลังงานด้วยการทบทวนสัญญาเดิม เพื่อแก้ปัญหา “ทุนผูกขาด” พลังงานว่า สิ่งที่ภาคเอกชนจับตาคือ influencer หรือเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้ารายเดิม ๆ ที่นโยบายของรัฐเหมือนไปซัพพอร์ตรายนั้น ในส่วนนี้ “พรรคก้าวไกลก็ทราบปัญหาดี เพราะทำการบ้านมาแล้ว”

“การปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ทำได้ ที่อยากเห็นก็คือ ราคาต่อหน่วยต้องดีขึ้น และมีการแข่งขันเสรี ส่วนประเด็นความได้เปรียบของผู้ประกอบการไฟฟ้ารายใหญ่ก็มีบางรายได้ประโยชน์จากสัมปทานไฟฟ้าในอดีต ไม่ต่างกับธุรกิจสุราเช่นกัน” นายอิศเรศกล่าว

กังวลนโยบายข้าวรัฐบาลใหม่

ด้านแหล่งข่าวจากวงการข้าวให้ความเห็นถึงนโยบายราคาสินค้าเกษตรของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จากปัจจุบันที่รัฐบาลชุดนี้ใช้นโยบายประกันราคาว่า จะประกันราคาต่อไปก็ได้ หรือจะไม่จำนำราคาก็ไม่เป็นไร เพราะบริบทเรื่องข้าวมันเปลี่ยน ปริมาณข้าว-ผลผลิตปัจจุบันไม่ได้เหลือมากมายอะไร ไม่มีสต๊อกข้าวมาก

“การที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงถล่มทลาย มันเหลือเชื่อ แต่เมื่อจับมือกับเพื่อไทยแล้ว ก้าวไกลจะสามารถเอา ส.ว.มาโหวตได้หรือไม่ มันจะมีโอกาสพลิกขั้วสูตรจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถามเราภาคเอกชนว่า ชอบมั้ย ถ้าเป็นผู้ใหญ่อาจจะไม่ชอบเลย และกังวลกับเค้ามาก ๆ เพราะพรรคก้าวไกลยังไม่มีประสบการณ์ก็จะทำให้วุ่นเหมือนกัน แต่ด้วยกระแสที่เลือกกันมากว่า 10 กว่าล้านเสียง มันฝืนก็ไม่ได้

ส่วนพรรคเพื่อไทยในอดีตเรื่องสินค้าเกษตร-จำนำข้าวก็เคยเห็นผลงานแล้ว ผู้ประกอบการก็เลยไม่เลือก มาเลือกก้าวไกล ซึ่งเราก็คุยกันว่า ต้องปล่อยให้พรรคก้าวไกลทำดู แต่ว่าผู้ใหญ่ก็กังวลกันเยอะในเรื่องความเสี่ยงของบ้านเมือง ส่วนคดีจำนำข้าวในอดีตที่ยังค้างอยู่ ตอนนี้ยังมองไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่รู้ว่า จะตั้งรัฐบาลได้เมื่อไร ใครจะมาอยู่กระทรวงพาณิชย์ เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยไม่ใช่แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ยังยากจะคาดเดาได้” แหล่งข่าวกล่าว