
อย.ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลางบุกทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุงเถื่อนผสมสารอันตราย พร้อมจุดกระจายสินค้า
วันที่ 22 กันยายน 2566 ตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับ อย.บุกทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุงเถื่อน และจุดกระจายสินค้าใน 3 จังหวัด ยึดของกลางที่มีสารเคมีอันตรายกว่า 227,000 กล่อง มูลค่ากว่า 4,540,000 บาท
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ตรวจสอบสินค้ายาจุดกันยุงจีนยี่ห้อ Goldeer และ Laojun (รูปเด็กอ่อน) ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ วางจำหน่ายในสื่อโซเชียลและตามร้านค้าขายปลีก พบมีสารเคมีอันตรายกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) คือ เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารที่ อย. ยังไม่เคยรับขึ้นทะเบียน
โดยสารกลุ่ม Pyrethroids มักมีการโฆษณาว่าเป็นสารจากดอกไพรีทรัมอ้างว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ไม่เป็นความจริง เพราะสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบประสาทและความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่ร่างกายรับเข้าไป ซึ่งร่างกายรับสารนี้ได้ทางการกินกับการหายใจ หากได้รับปริมาณมากจะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก ชัก หมดสติ หรือพบอาการอื่น ๆ เช่น การระคายเคืองผิวหนังหรือทางเดินหายใจ หากเข้าตาอาจเกิดอาการระคายเคืองได้
นอกจากนี้ กล่องผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงจีน ยี่ห้อ Laojun มีรูปหน้ากล่องเป็นรูปเด็กอ่อน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลงผิดคิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม
ด้วยเหตุนี้จึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ขยายผลทั้งแหล่งกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดชัยนาท, อ่างทอง และสุพรรณบุรี รวมถึงตรวจค้นโรงงานผลิตยาจุดกันยุงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า โรงงานดังกล่าวกำลังผลิตยาจุดกันยุง ยี่ห้อ Goldeer กล่องสีฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ และบรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องพร้อมจำหน่าย รวมถึงมียาจุดกันยุงบรรจุลังกระดาษตราเสือ กล่องสีแดง ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ บรรทุกใส่รถกระบะเตรียมนำไปส่งลูกค้า
จากการสอบสวนนางณัธวรรณ สงวนนามสกุล ให้การว่า สั่งซื้อยาจุดกันยุงชนิดขดสีดำจากประเทศจีน นำเข้ามาเพื่ออบสารเคมีที่ใช้ไล่ยุงจริง โดยสารเคมีที่ใช้อบยาจุดกันยุงไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าเอง และไม่ได้ขออนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จากนั้นได้นำมาบรรจุในกล่องผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายหลายยี่ห้อ (ใช้ขดยาจุดกันยุงสีดำชนิดเดียวกันที่ผลิตออกมาบรรจุ) ได้แก่
1.ยาจุดกันยุงตรา Goldeer กล่องสีฟ้า จำนวน 4,826 กล่อง
2.ยาจุดกันยุงตรา Laojun (รูปเด็กอ่อน) จำนวน 9,555 กล่อง
3.ยาจุดกันยุงตรา เสือ กล่องสีแดง จำนวน 13,440 กล่อง
4.ยาจุดกันยุงตรา สิงโต กล่องสีฟ้า จำนวน 3,811 กล่อง
5.ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีน้ำเงิน จำนวน 50 กล่อง
6.ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีเขียว จำนวน 120 กล่อง
7.ขดยาจุดกันยุงเปล่ายังไม่บรรจุกล่องยี่ห้อผลิตภัณฑ์ จำนวน 180,720 กล่อง
จึงตรวจยึดและอายัดทั้ง 7 รายการ จำนวนรวม 212,522 กล่อง โดยรายการที่ 1-3 เป็นผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงที่ไม่มีเลข อย. และไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ส่วนรายการที่ 2 พบว่าด้านหลังกล่องผลิตภัณฑ์มีล๊อตการผลิตระบุวันผลิตและหมดอายุ “20230701/20260701” และตัวหนังสือภาษาไทย “ผลิตภัณฑ์นี้เป็นของแท้” ตรงกับของกลางที่ยึดได้ที่จังหวัดชัยนาทก่อนหน้านี้ จึงเชื่อได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายให้กับร้านค้าต่าง ๆ
ของกลางที่ตรวจยึดมาได้ ทาง อย. ได้นำส่งตัวอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาสารเคมีอันตรายที่เป็นส่วนผสมแล้ว โดยหากพบว่ามีสารเคมีซึ่งมีวัตถุอันตรายจริง การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฐานผลิต และขายวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
1.โรงงานผู้ผลิต และครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ระวางโทษตามมาตรา 73 จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและผลิตวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนมาตรา 45 (4) ระวางโทษตามมาตรา มาตรา 78 จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
2.ร้านค้าผู้ขายจะมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนมาตรา 45 (4) ระวางโทษตามมาตรา มาตรา 78 จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ